สะพานไม้แกดำ - พระธาตุนาดูน เชื่อมใจ ศูนย์กลาง วิถีถิ่นอีสาน

15 ก.พ. 2562 | 04:45 น.
01

ในอดีตการสร้างสะพาน ถือเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของการคมนาคม นอกจากเชื่อมโยงความสะดวกสบายแล้ว  ยังสื่อถึงแนวคิดและสถาปัตยกรรมที่งดงาม โดยหนึ่งสะพานที่กลายเป็นแม่เหล็กที่สำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอีสานตอนกลางของไทย คงต้องยกให้กับ “สะพานไม้แกดำ”

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สะพานดังกล่าวมีเรื่องเล่าจากอดีตว่า “เมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีแล้งมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี “หลวงปู่จ้อย” นำพาชาวบ้านมา ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งเมื่อพบชัยภูมิดังกล่าวจึงตั้งเป็นหมู่บ้านโดยให้ชื่อว่า “บ้านแกดำ” จากนั้นหมู่บ้านแห่งนี้ได้มีการขยายครัวเรือนจนทำให้
บางส่วนต้องโยกย้ายข้ามฝากไปตั้งบ้านใหม่โดยใช้ชื่อว่า “บ้านหัวขัว” แต่เดิมคลองนี้มีขนาดกว้างเพียง 20 เมตร ชาวบ้านไปมาหาสู่กันได้ง่ายด้วยเรืออีโปง แต่หลังจากภาครัฐทำการขุดหนองเพื่อการชลประทาน คลองแห่งนี้จึงกลายเป็นหนองขนาดใหญ่  ทำให้การสัญจรของชาวบ้านลำบาก

ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงร่วมมือกัน ระดมเศษไม้จากสวนไร่ สวนนาและเสารั้วบ้านเก่า มาร่วมกันลงแรงสร้างสะพานไม้ยาว 500 เมตร โดยทอดตัวคดเคี้ยวไปตามทุ่งบัวหลวงเพื่อเชื่อมใจของทั้ง 2 หมู่บ้านให้เกิดความเหนียวแน่น โดยตั้งชื่อว่า “สะพานไม้แกดำ”

ปัจจุบันสะพานแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคาม  โดยถูกคัดเลือกให้เป็นสะพานไม้ที่มีความสวยงามเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากความงดงามของตัวสะพานที่ไม่สูงมากและโทนสีของเนื้อไม้ที่ผันไปตามกาลเวลาด้วยเฉดสีเทาที่แสดงออกถึงความคลาสสิก ไม่เพียงเท่านั้นความไม่เป็นระเบียบหรือคดเคี้ยวกลายเป็นมุมถ่ายภาพยอดฮิต และการทอดยาวกว่า 500 เมตร นอกจากเดินเล่นแล้วยังสามารถชมกับบริบทโดยรอบ ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติและหนองนํ้าที่แสดงออกถึงความสมบูรณ์จนได้รับการขนานนามให้เป็น “โอเอซิสแห่งชีวิตของภาคอีสาน” หรือแหล่งรวมวิถีชีวิตของชาวบ้าน และระบบนิเวศที่สำคัญของสัตว์นํ้า กลายเป็นโอโซนที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง สะพานไม้แกดำ

สะพานแห่งนี้ยังเป็น ศูนย์กลางการจัดประเพณีที่สำคัญของจังหวัดด้วย อาทิ งานลอยกระทง รวมทั้งเป็นแหล่งวิสาหกิจชุมชนด้วยการพัฒนาให้เป็น ตลาดย้อนยุคในทุกวันอาทิตย์ที่หัวมุมสะพานทั้ง 2 ฝั่ง

นอกจากสถาปัตยกรรมสะพานไม้ที่งดงาม  แล้วจังหวัดมหาสารคามยังถือเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ โดยได้ขุดพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นนครจำปาศรีในอดีต ที่สำคัญเป็นที่ประดิษฐานของ พระธาตุนาดูน
หรือแหล่งปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ภูมิภาค ถือเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจการ พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้รับการขนานนามให้เป็น พุทธมณฑลอีสาน

พระธาตุนาดูน จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปะทวาราวดี ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังภายนอกทำด้วยหินบางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายลวดบัว เสาบัวต่างๆ จำลองแบบพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุ ในทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน ในช่วงวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา มีการบวงสรวงองค์พระบรมธาตุ การปฏิบัติธรรมวิปัสสนาการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ฟังธรรม ขบวนแห่ ประเพณี 12 เดือน การแสดงแสง สี เสียง ประวัติความเป็นมาของนครจำปาศรีและการแสดงมหรสพสมโภชตลอดงาน พร้อมกันนี้ยังเหมาะสำหรับการมาสักการะหลังจากเข้าร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่และครูใหญ่พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัดมีเส้นทางที่ใกล้เคียงกัน

n20180731162004_4321

อย่างไรก็ดี จังหวัดมหาสารคาม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์” ซึ่งประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ หรือแผนการตลาดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง  ที่ต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและกระจายนักท่องเที่ยวไหลเวียนไปยังจังหวัดข้างเคียง ภายในกลุ่มจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวอยู่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวใหญ่

มหาสารคาม จึงเป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในทุกกลุ่มอายุ หนึ่งหมุดหมายที่มีทั้ง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และยังมีอีกหลากหลายมิติที่สื่อถึง วิถีถิ่นอีสานได้อย่างงดงาม

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,439 วันที่ 27 - 30 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859