จี้รัฐ! เร่งปรับค่าโดยสาร "รถไฟฟ้า" ลดราคาดึงคนชานเมือง\ลดปริมาณรถยนต์

12 ม.ค. 2562 | 03:43 น.
นักวิชาการสุดทน! จี้รัฐเร่งปรับค่าโดยสาร "รถไฟฟ้า" เพื่อดึงคนชานเมืองใช้บริการเพิ่ม หลังจากปัจจุบันผู้ใช้บริการอ่วม เจอค่าโดยสารไป-กลับวันละกว่า 300 บาท เชื่อเป็นมาตรการลดใช้รถยนต์ส่วนตัว แก้ไขมลพิษ แก้ไขปัญหาจราจร แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแทน



7584FDF1-FDAB-4DAC-B167-9479754CCE1A
นายรัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากกรณีมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจำนวนน้อย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขาดทุนโครงการในอนาคต เช่นเดียวกับโครงการอื่น ๆ ที่กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดัน

ดังนั้น จึงสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้กับผู้ใช้เส้นทางจากชานเมืองเข้ามาในเมือง ยกตัวอย่าง ผู้โดยสารใช้บริการสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน และสายสีเขียวบีทีเอส เข้ามาทำงานในเมือง ทั้งขาไปและขากลับ พบว่า ค่าโดยสารไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อคนต่อเที่ยว จึงเป็นภาระของประชาชน


5D96A0D8-3338-4386-8163-42F37B383991

หากรัฐบาลสามารถหาแนวทางปรับลดค่าโดยสารจากชานเมืองเข้ามายังเขตชั้นใน ให้จัดเก็บเฉพาะขาเข้า จะเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนได้อย่างมาก ส่วนการชดเชยนั้น รัฐสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ทั้งการจัดเก็บค่าจอดรถยนต์ในเขตเมือง การนำรถยนต์เข้าพื้นที่เขตชั้นใน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะช่วยให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น แก้ไขปัญหาจราจรและมลพิษได้อีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งยังจะเป็นการชักชวนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น นับเป็นมาตรการที่เห็นผลเด่นชัดที่สุด

"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรุงโซล ที่มีเป้าหมายลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนให้ได้ 30% ลดมลพิษให้ได้ 30% และเพิ่มระบบโครงข่ายสาธารณะให้ได้ 30% ภายในปี 2574 หรือ ภายใน 13 ปีหลังจากนี้ ดังนั้น ค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้าจึงไม่ควรกำหนดเป็นตามระยะทาง โดยเฉพาะการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่เขตชั้นในเมือง ที่ปัจจุบัน ค่าโดยสารไป-กลับเป็นภาระของประชาชนอย่างมาก อาจส่งผลให้ตัดสินใจใช้บริการน้อยลง จึงส่อแววขาดทุนโครงการ จนทำให้เป็นภาระต่อรัฐบาลในอนาคตได้"


8E208A99-F8A1-481A-8F68-DFAD28B80544

ดังนั้น จึงเสนอรัฐบาลคิดเป็นอัตราเหมาจ่าย คนเดินทางใกล้ที่อยู่ในเขตเมืองควรจ่ายมากกว่าคนที่อยู่ชานเมือง เนื่องจากมีอัตราค่าครองชีพที่ดีกว่า เมืองมอสโคว์ คือ ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่รัฐบาลไทยควรนำมาปรับใช้ ประการสำคัญ กำลังซื้อคนส่วนใหญ่ยังอยู่ชานเมือง แรงงานราคาถูกไม่สามารถอยู่อาศัยในเมืองได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

"ตามแผนดำเนินการระยะต่อไป หรือ เฟส 2 เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งรัฐบาลหรือกระทรวงคมนาคมต้องมีแผนชัดเจนไว้แล้ว หากยังเปิดให้ร่วมทุนแล้วไปจัดเก็บค่าโดยสารแพง สุดท้ายคงจะเจ๊งทั้งหมด ไม่เข้าเป้า รถไฟฟ้าสายสีม่วง คือ อุทาหรณ์ เพราะค่าโดยสารแพง คนจึงยังใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะสะดวกกว่า ราคาไป-กลับสูงกว่า 300 บาท จึงไม่ใช่ราคาของค่าขนส่งสาธารณะ จัดเป็นค่าแท็กซี่และใช้รถยนต์ส่วนตัวดีกว่าหรือไม่ ดังนั้น หากเดินทางไกลเข้ามาในเมืองแล้วจ่ายถูกกว่า จะโดนใจประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น"

595959859