ผุดไอเดีย! "กรีนแพลนนิ่ง" กระตุ้นความร่วมมือพัฒนาอีอีซี

23 ธ.ค. 2561 | 13:57 น.
สมาคมการผังเมืองไทยเสนอใช้ "กรีนแพลนนิ่ง" กระตุ้นความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่อีอีซี รูปแบบหุ้นส่วนการพัฒนาไปพร้อมกัน ยกโมเดลสิงคโปร์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มได้ถึง 2 เท่า ส่วนสาขาโลจิสติกส์คาดการณ์ไว้กว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ต้นทุนการขนส่งลดลง 40%

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวภายหลังจากการหารือกับคณะผู้บริหารอีอีซี มีข้อสรุปโดยเห็นตรงกันในการใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนกระตุ้นการลงทุนและการพัฒนาอีอีซีตามนโยบายของรัฐบาล ให้อีอีซีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทุกระดับและขับเคลื่อนการพัฒนาในรูปของ "หุ้นส่วนการพัฒนา" ไปพร้อมกัน

โดยกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย กลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่จากในและต่างประเทศ (Global Investers), กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการภายในพื้นที่ (Local Business), กลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (Local Government), กลุ่มผู้นำท้องถิ่น (Local Communities Leadership), สถาบันการศึกษาภายในพื้นที่ (Local Academic Institute) และนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs)

เนื่องจากพื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ ขจัดปัญหาที่เกิดจากกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองดำเนินไปอย่างราบรื่น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นหัวหอกในการยกระดับการพัฒนาไปสู่ประเทศที่เจริญแล้ว ดังนั้น จึงมีความเหมาะสมที่อีอีซีจะต้องนำเอารูปแบบการวางแผนสีเขียว หรือ กรีนแพลนนิ่ง มาประยุกต์ใช้

โดยกรีนแพลนนิ่งที่เสนอให้ใช้นั้น ประกอบด้วย การวางแผนยุทธศาสตร์มุ่งสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง กำหนดเป้าหมายการสร้างกรีนจ๊อบ (Green Jobs) หรือ การสร้างงานตามประเภทของมูลค่าสูงที่ไม่เป็นภาระสิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนผ่านการกระตุ้นการพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจและผู้ประกอบการสีเขียว (Green Entrepreneur) การวางแผนการมีส่วนร่วมให้เกิดการทำงานร่วมกันของนักลงทุน ผู้ประกอบในท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการในท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มนักพัฒนาจากองค์กรเอกชน

นอกจากนั้น ให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา รูปแบบการวางผังเมือง การออกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อกำหนดระบบคมนาคมขนส่ง และข้อกำหนดการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย "ข้อกำหนดที่ชาญฉลาด" หรือ Smart Codes ตัวอย่างเช่น การออกแบบการใช้ที่ดินตามเกณฑ์ LEED-ND ซึ่งมุ่งสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในที่ดินที่จำกัด การออกข้อกำหนดลดการจอดรถในเขตชั้นในของเมือง การใช้ยุทธศาสตร์กำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนให้เกิดการสร้างงานสีเขียวและธุรกิจสีเขียว (Green Business) ในระยะ 5 หรือ 10 ปี ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของภาคการลงทุนและการประกอบการภายในพื้นที่อีอีซี หรือ การกำหนดเป้าหมายการลงทุนและการให้บริการด้วยระบบการขนส่งสีเขียว (Green Transportation) ในสาขาการเดินทางไม่น้อยกว่า 50% และสาขาการขนส่งไม่น้อยกว่า 30% ในปีที่ 10 เป็นต้น

สำหรับการวางแผนดังที่กล่าว เป็นระบบการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนซึ่งสิงคโปร์และหลายเมืองในสหรัฐฯ ได้นำไปใช้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเทียบจากระบบการวางแผนเชิงเดี่ยวแบบไซโลเดิม ๆ มากกว่า 2 เท่า ดังกรณีสาขาอุตสาหกรรมอาหาร จากมูลค่าที่คาดการณ์ไว้ 10 ปี ที่ 2 แสนล้านบาท หากใช้กรีนแพลนนิ่ง มูลค่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนล้าน ที่สำคัญ คือ ในมูลค่า 4 แสนล้านนั้น จะเป็นมูลค่าที่ตกอยู่กับภาคการเกษตรและการแปรรูป เบื้องต้น ไม่น้อยกว่า 40% และยังทำให้ผู้อยู่ในซัพพลายเชนได้ศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความขัดแย้งทางสังคม และเพิ่มความร่วมมือในการจัดสรรทรัพยากรได้มากขึ้น

"ในส่วนสาขาอื่น เช่น สาขาขนส่งและโลจิสติกส์ ใน 10 ปี คาดการณ์ไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ต้นทุนการขนส่งจะลดลง 40% โดยการเปลี่ยนโหมดจากการขนส่งทางถนนมาเป็นการขนส่งทางราง"

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว