แพทย์เตือน! คนไทย 90% เสี่ยง "โรคกระดูกพรุน" ร้ายแรงถึงขั้นพิการ/เสียชีวิต เหตุจากบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ

14 ธ.ค. 2561 | 04:23 น.
แพทย์ เผย คนไทยเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนสูงถึง 90% โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี และ 1 ใน 5 ของผู้ชายอายุเกิน 60 ปี มีปัญหากระดูกพรุน สาเหตุหลักเกิดจากบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เพียงพอ แนะควรบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงในทุกช่วงวัย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และอาหารรสเค็มจัด

นายแพทย์เทพรักษา เหมพรหมราช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมุทรสาคร เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคกระดูกพรุนของประเทศไทย ในจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ร่วมกับ บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ว่า ปัจจุบัน คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนถึง 90% องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า สถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า 200 ล้านคน ในประเทศไทยถือเป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและไม่ระวังตัว ซึ่งค่ารักษาโรคกระดูกพรุนต้องใช้เงินเฉลี่ยปีละ 300,000 บาท/คน


1

ส่วนสาเหตุหลักของการเป็นโรคกระดูกพรุน เกิดจากการขาดแคลเซียม ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นจะส่งผลให้กระดูกบางลง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกระดูกทรุด เปราะ หัก ได้ง่าย สำหรับอันตรายจากโรคกระดูกพรุน ทำให้ปวดหลัง หลังโก่งงอ เคลื่อนไหวลำบาก หายใจลำบาก ปอดทำงานได้ไม่ดี เหนื่อยง่าย มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ป่วย ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน สำหรับอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนในเพศหญิงนั้น จะสูงถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะในกลุ่มที่หมดประจำเดือนและอายุเกิน 60 ปี ส่วนในเพศชายมีอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนประมาณ 1 ใน 5 ของกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 60 ปี


หมอ2

สำหรับการขาดแคลเซียมในคนไทยนั้น เกิดจากการที่คนไทยรับประทานแคลเซียมน้อยมาก เฉลี่ยเพียงวันละ 361 มิลลิกรัม เนื่องจากอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันมีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแต่ละช่วงวัยมีความต้องการแคลเซียมในแต่ละวันต่างกัน ในช่วงทารกมีความต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 270 มิลลิกรัม/วัน วัยเด็กต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน วัยรุ่นต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,300 มิลลิกรัม/วัน วัยผู้ใหญ่ต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัม/วัน คิดโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตมนุษย์ต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน โดยในช่วงอายุ 0-30 ปี จะเป็นช่วงสะสมแคลเซียม อายุ 30-45 ปี เป็นช่วงที่พยายามรักษาระดับแคลเซียมให้อยู่ตัว


หมอ1

หลังจากนั้นในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ร่างกายจะไม่สะสมแคลเซียมอีกต่อไป จึงต้องมีการเสริมแคลเซียมให้ร่างกายสามารถรักษาระดับแคลเซียมในกระดูก และเมื่อถึงอายุ 45 ปี จะเป็นช่วงที่มีการนำแคลเซียมในกระดูกมาใช้ ซึ่งต้องยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่มีแคลเซียมอยู่ไม่เพียงพอ เฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 400 มิลลิกรัม/วันเท่านั้น เนื่องจากอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันมีปริมาณแคลเซียมต่ำ เช่น ขนมจีน มีปริมาณแคลเซียมต่อจานประมาณ 141 มิลลิกรัม, ส้มตํา มีปริมาณแคลเซียมต่อจานประมาณ 159 มิลลิกรัม, ข้าวผัดกะเพรา มีปริมาณแคลเซียมต่อจานประมาณ 14 มิลลิกรัม จึงควรมีการบริโภคอาหารที่ให้แคลเซียมสูงมากขึ้น ได้แก่ งาดํา นม ชีส นมถั่วเหลือง กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้อ่อน ผักคะน้า เมล็ดอัลมอนด์ บล็อกโคลี ถั่วขาว ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายมากและดียิ่งขึ้น ควรมีการเสริมวิตามิน D ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เนื่องจากวิตามิน D เป็นตัวพาแคลเซียมเข้ากระดูก ช่วยการดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถได้รับวิตามิน D ได้โดยตรงจากแสงแดดและอาหารประเภทปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู (Mackerel) เนื้อวัว ชีส ไข่แดง เห็ด เป็นต้น ซึ่งหากได้รับวิตามิน D และแคลเซียมอย่างเพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงจากกระดูกพรุนได้ถึง 30%

ส่วนการป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้น ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ อาหารประเภทกาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสเค็มจัด การรับประทานโปรตีนที่มากเกินพอดี เพราะจะไปขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเลิกสูบบุหรี่ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ กินยาเสริมแคลเซียม วิตามินดี หรือ การให้ยายับยั้งการทำลายกระดูก ถ้ามีความจำเป็นและต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว