อย. ระดมทีมปราบสินค้าโฆษณาเวอร์!!

07 ธ.ค. 2561 | 05:34 น.
อย. ผนึก 5 หน่วยงาน เร่งปราบปราบธุรกิจอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์โฆษณาผ่านสื่อ หลังพบโฆษณาเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค ด้าน กสทช. เพิ่มมาตรการสั่งระงับโฆษณาทันที หากพบเอาเปรียบผู้บริโภค

นายธนากร จงอักษร นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า หากเปรียบเทียบข้อมูลกลุ่มธุรกิจอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ที่โฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ระหว่างปี 2560-2561 พบว่า กลุ่มธุรกิจประเภทอาหารมีการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับธุรกิจยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ อย่างไรก็ดี เพื่อให้แนวทางการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อทุกประเภทมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อย. จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานทางวิชาการพัฒนาการปราบปรามและตรวจสอบต่อเนื่อง

 

[caption id="attachment_358123" align="aligncenter" width="503"] ©mmmCCC ©mmmCCC[/caption]

"หน้าที่หลักของ อย. จะตรวจสอบและแจ้งข้อมูลไปยังหน่วยงานข้างต้นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล และให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ อาทิ หน่วยงาน กสทช. จะมีการตักเตือนและปรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนถึงหลักล้านบาท ขณะที่ หน่วยงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมีมาตรการสั่งปิดโฆษณาผ่าน ISP หรือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเงินไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น"

 

[caption id="attachment_358122" align="aligncenter" width="503"] น.พ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[/caption]

ด้าน น.พ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อย. และ กสทช. มีนโยบายร่วมกันจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดฎหมายทางสื่อทุกประเภท เพื่อให้จัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะเร่งติดตามตรวจสอบและจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ดิจิตอล และทีวีดาวเทียม เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อย. และ กสทช. ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยใช้กลไกการประสานความร่วมมือที่ลดขั้นตอนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อความรวดเร็วในการยุติโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

"กลไกการประสานความร่วมมือระหว่าง อย. และ กสทช. ได้เห็นชอบให้ใช้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อความรวดเร็วในการยุติโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายการและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ร่วมกับ กสทช."

 

[caption id="attachment_358126" align="aligncenter" width="339"] ©OpenClipart-Vectors ©OpenClipart-Vectors[/caption]

ด้าน นายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช. ได้เพิ่มมาตรการต่าง ๆ เช่น การสั่งให้สถานีวิทยุ หรือ โทรทัศน์ สามารถระงับการโฆษณาทันทีและส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. พิจารณาว่า เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ และนำมาตรการข้อ 5.2 ที่ระบุว่า การออกอากาศรายการ หรือ การโฆษณาที่มีเนื้อหาสารถในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือ โดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือ ข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท มาใช้เป็นแนวทางใหม่

โดยเริ่มกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภาคเหนือและภาคใต้ ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดการปัญหาด้วยแนวทางใหม่ คือ 1.เมื่อ กสทช. ส่งเรื่องมาจะช่วยให้ สสจ. สามารถดำเนินจัดการปัญหาในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น 2.สื่อโฆษณาทางวิทยุที่ผิดกฎหมายจะถูกสั่งระงับการออกอากาศโดย กสทช. พร้อมกันทั่วประเทศ 3.เกิดมาตรฐานการจัดการแก้ปัญหาเป็นแนวทางเดียวกัน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,423 วันที่ 2 - 5 ธ.ค. 2561 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย. เตือนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "CORDIA เพรียวพลัส"
'เกษมสันต์' ยื่น ป.ป.ช. สอบ "เลขาฯอย. - พวก" ปมยาจุดกันยุงเรนเจอร์ สเก้าท์


บาร์ไลน์ฐาน