เยอรมนีคุมเข้มขยะ แบนกาแฟแคปซูลแบบใช้แล้วทิ้ง

09 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
กาแฟแคปซูลแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แม้จะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการต้มกาแฟสดดื่มเองที่บ้าน เพราะให้ความสะดวกสบาย ไม่ต้องตวง ไม่ต้องวัด เพียงแคปซูลเดียวนำเข้าเครื่องชงกาแฟ รอแค่อึดใจก็ได้กาแฟอร่อยรสชาติคงที่มาดื่มแล้ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ตัวแคปซูลซึ่งส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกผสมกับอะลูมิเนียม เมื่อใช้แล้วทิ้งทุกวันและวันละหลายแคปซูล ก็จะก่อเกิดเป็นขยะปริมาณมหาศาล ด้วยเหตุนี้ เมืองฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเยอรมนี (รองจากเมืองหลวงเบอร์ลิน) โดยประกาศของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จึงได้สั่งห้ามการใช้กาแฟแคปซูลในทุกๆ อาคารที่เป็นของหน่วยงานรัฐบาล เป้าหมายเพื่อเป็นแบบอย่างในการลดปริมาณขยะที่เป็นถ้วยแคปซูลดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงานแห่งนครฮัมบูร์กเปิดเผยว่า การใช้กาแฟแคปซูลก่อให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็น นับเป็นความสิ้นเปลือง และภาชนะที่ทำจากพลาสติกผสมอะลูมิเนียมก็จะกลายเป็นขยะที่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม

"ถ้วยแคปซูลที่ใช้แล้วเป็นวัสดุที่นำมารีไซเคิลได้ยากเพราะมันเป็นวัสดุผสม ตัวผลิตภัณฑ์กาแฟแคปซูลนั้น มีผงกาแฟ 6 กรัม นอกนั้นเป็นภาชนะ (แคปซูล) 3 กรัม ดังนั้น หน่วยงานรัฐบาลในฮัมบูร์กจึงไม่ควรนำภาษีประชาชนมาซื้อสินค้าแบบนี้" ยาน ดูเบ เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงานแห่งนครฮัมบูร์กกล่าว

ข่าวระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2554 เครื่องชงกาแฟแบบใช้กับกาแฟแคปซูลมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศแถบยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ในปี 2556 สถิติชี้ว่า ยอดจำหน่ายเครื่องชงกาแฟแบบใช้กับกาแฟแคปซูลวิ่งแซงหน้าเครื่องชงกาแฟแบบหยดไปเรียบร้อยแล้วในประเทศยุโรปตะวันตก บริษัท คอยริก ผู้ผลิตเครื่องชงกาแฟแบบใช้แคปซูลรายใหญ่ของยุโรป เปิดเผยว่า บริษัทมียอดขายกาแฟแคปซูลราว 9.8 พันล้านชิ้นในปี 2557 และในจำนวนนี้เป็นชิ้นส่วนที่สามารถรีไซเคิลเพียง 5%

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะทางฝั่งอเมริกาเหนือ มีบริษัทผู้ผลิตกาแฟแคปซูลอีกรายคือ บริษัท แคนเทอเบอรี คอฟฟีฯ จากประเทศแคนาดา ที่ออกมาประกาศว่าถ้วยแคปซูลของบริษัทสามารถรีไซเคิลได้ถึง 90% เรียกว่าถ้วยแคปซูลรุ่น วันคอฟฟี คัพ (OneCoffee Cup) โดยวัสดุที่ใช้นั้นเป็นโพลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ส่วน 10 % ที่เหลือที่ไม่สามารถย่อยสลายได้นั้นเป็นไนลอน แต่บริษัทก็กำลังคิดหาวัสดุอื่นที่ย่อยสลายได้มาใช้แทนในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,137 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559