"อลงกรณ์" เตือนสติ! ชี้ 'ซีพี' เป็นตัวอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ ศก.-สังคม

05 พ.ย. 2561 | 15:14 น.
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) และผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึง นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บ แสดงจุดยืนคัดค้านการเปิดขายอาหารตามสั่ง 24 ชั่วโมง ของร้านสะดวกซื้อ 7/11 ว่า จะกระทบถึงผู้ค้ารายย่อย มีรายละเอียดว่า

"...

(คุณธนินท์และซีพี ตอนที่ 2)

เรื่อง 'คุณธนินท์' และ 'ซีพี' เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศของเรา

30 ปีที่ผ่านมา ดัชนีจินี่ (Gini index) ชี้วัดว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศของเรา แทบจะไม่ลดลงเลย การกระจายความมั่งคั่งของชาติ (Distribution of National Wealth) กระจุกตัว รวมไปถึงโอกาสของเด็กในครอบครัวจนสุด 10% สามารถถีบตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เพียง 4.1% เมื่อปี 2551 และ 10 ปีถัดมา ขยับเป็น 4.2% เพื่อสร้างฐานะใหม่ ขณะที่ คน 50 ล้านคน หรือ 75% ไม่มีที่ดินแม้ตารางวาเดียว บางคนมีเกือบ 7 แสนไร่ คนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับภาคก็เช่นกัน อีสานเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ และมีประชากร 22 ล้านคน เท่ากับ 1 ใน 3 ของคนไทย แต่มีรายได้รวมกันเพียง 10% ของ GDP

บริบทเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องใช้อำนาจทางการเมืองที่สุจริตเที่ยงธรรมและมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมอันแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตรงไปตรงมา จึงจะปฏิรูปเศรษฐกิจปฏิรูปราชการและปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) ได้สำเร็จ

ผมไม่ได้ตั้งป้อมกับคุณธนินท์และซีพี หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน เพียงแต่ยกกรณีล่าสุดของรูปแบบร้านสะดวกซื้อที่จะขายทุกอย่างและจะขยายไปทุกที่ โดยไม่มีกฎกติกาที่เป็นธรรมกับกิจการค้ารายย่อยรากหญ้า ทั้งที่รัฐมีอำนาจที่จะทำได้ แต่ไม่ทำหรือทำไม่เพียงพอ

มีข้อมูลที่ควรทราบจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่อย่างเป็นทางการ เมื่อต้นปี 2561 ว่า ประเทศไทยมีกิจการเอสเอ็มอี 2.49 ล้านราย มีกิจการไมโครเอสเอ็มอี คือ กลุ่มหาบเร่แผงลอยรายย่อย 2.79 ล้านราย รวมกันเท่ากับ 5.28 ล้านราย นี่คือ กิจการขนาดกลาง ขนาดย่อม ขนาดเล็ก หรือ กลุ่มเศรษฐกิจรากหญ้าที่ต้องดูแล ความจริงเมื่อ 8 ปีก่อน ตอนผมเป็นรัฐมนตรีมีตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) ระบุว่า มีเอสเอ็มอี 2.9 ล้านราย หากเปรียบเทียบกับรายงานล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงว่า เอสเอ็มอีหายไปเกือบ 5 แสนราย จะเพราะเหตุใดหรือ?

เราพูดถึงการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการผูกขาดจน สปช. และ สปท. จัดทำแผนปฏิรูปเรื่องนี้ ตามอำนาจหน้าที่เสร็จแล้ว เหลือเพียงผู้มีอำนาจทางกฎหมายและอำนาจรัฐจะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยทันที จึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้ายังลูบหน้าปะจมูก ก็แก้ไม่ได้และความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ก็จะเหมือน 30 ปีที่ผ่านมา

นอกจากแนวทางการแก้ไขปัญหาเก่าที่สะสมหมักหมมมานาน ผมได้ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่พร้อมกันไปด้วย คือ แพคเกจ 6 โมเดลใหม่ทางเศรษฐกิจ และ 2 ใน 6 คือ 1."เศรษฐกิจเพื่อสังคม" (Social Economy) เป็นเศรษฐกิจแบบเอื้ออาทรและแบ่งปัน (Caring & Sharing) ซึ่งได้แนวทางมาจากสิ่งที่ "พ่อ" สอนไว้ (โอกาสหน้าจะเล่าให้ฟัง) 2.เศรษฐกิจรากหญ้าในประเทศ (Grass-root & Domestic Economy) ที่ต้องพัฒนาส่งเสริมและดูแลเพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจใหม่แบบฐานแผ่และลดการผูกขาด รวมทั้งลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ที่ปัจจุบันรายได้ส่งออกสูงถึง 70% ของ GDP เวลาโลกผันผวนปั่นป่วน ประเทศของเราทรุดไปด้วย จึงต้องสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพ จึงต้องจัดระบบเศรษฐกิจในประเทศใหม่

ผมเป็นคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่คงทำอะไรไม่ได้มากเหมือนที่ตั้งใจ เท่าที่ทำได้ คือ ฝากหลักคิด หลักยึด และเตือนสติให้กับสังคมและกิจการใหญ่ เช่น ซีพี รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ควรจะปรับเปลี่ยนแนวทางการประกอบการในบ้านของเราเสียใหม่ มากกว่าเป้าหมายกำไรสูงสุด (Maximize Profit) และใหญ่ที่สุด เพื่อผูกขาดเป็นใหญ่ที่สุด เพื่อทุกคนจะได้รับการสรรเสริญยกย่อง แทนที่จะถูกมองในด้านลบอย่างที่เป็นอยู่ จะดีต่อตัวเองกิจการและประเทศ

วันนี้ผมทำได้แค่นี้

แต่ถ้าผมได้อำนาจจากประชาชนวันใด

ผมจะทำทันที ผมจะบังคับใช้กฎหมายขจัดการผูกขาดและออกกฎหมายขจัดคอร์รัปชัน 3 ชั่วโคตร ลงโทษทั้งฝ่ายการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน โดยไม่ละเว้นและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างการเมืองสีขาว ราชการสีขาว และธุรกิจสีขาวให้จงได้

ก่อนจะถึงวันนั้น กิจการยักษ์ใหญ่ทั้งหลายยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่การประกอบธุรกิจสีขาว ประเทศของเราจะเป็นชาติแรกในโลกที่อนู่ร่วมกันแบบเอื้ออาทรและแบ่งปันกันอย่างมีความสุขนะครับ

..."

595959859