ผ่าตัดใหญ่ข้าราชการ! เกษียณอายุ 63 ปี - ลดกำลังคน - หั่นรายจ่าย 2.3 แสนล้าน

25 ต.ค. 2561 | 10:35 น.
251061-1722

ก.พ. ชง ครม. แก้กฎหมาย 3 ฉบับ ขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี "ปลัด-อธิบดี" ชวด เล็งเพิ่มเงินเดือนให้คนที่มีทักษะหลากหลาย พร้อมปรับลดอัตรากำลังคน ตัดรายจ่ายงบ 2.3 แสนล้าน จ้างเอกชนเข้ามาให้บริการมากขึ้น

รัฐบาลภายใต้การนำของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เตรียมเดินหน้าปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ ลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ และสอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยแนวทางการปฏิรูประบบราชการในครั้งนี้จะมีทั้งการยืดอายุการเกษียณออกไป จากเดิม 60 ปี เป็นอายุ 63 ปี และปรับกรอบอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ เพิ่มค่าตอบแทนให้กับข้าราชการที่มีความสามารถหลากหลาย หรือ Multi Skill

 

[caption id="attachment_337765" align="aligncenter" width="336"] เมธินี เทพมณี เลขาธิการ ก.พ. เมธินี เทพมณี เลขาธิการ ก.พ.[/caption]

ชงแก้ ก.ม. รับเกษียณ 63 ปี
นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการ ก.พ. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สำนักงาน ก.พ. เตรียมจะเสนอรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี คือ 1.แก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 , 2.แก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และ 3.แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ อีกเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม การยืดเกษียณข้าราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี จะไม่ครอบคลุมถึงตำแหน่งบริหารระดับสูง อย่างเช่น อธิบดีและปลัดกระทรวง เพราะคนกลุ่มนี้มีเงินเดือนสูง หากยืดเวลาเกษียณออกไปจะสวนทางกับยุทธศาสตร์การลดค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ แต่จะยืดให้ข้าราชการส่วนที่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ มีความจำเป็นในระบบราชการ ที่มีหลายสาขา อาทิ สายการเงินเศรษฐกิจ นักลงทุน นักวิเคราะห์ นักวิจัย เป็นต้น


4-76

การยืดเกษียณข้าราชการ 63 ปี อาจต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน 5-7 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการหลังจากนี้จะต้องรอแผนแม่บทปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแล้วเสร็จก่อน ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1 เดือน หรือ เร็วที่สุดอีก 1 สัปดาห์ สามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้

จากนั้นในการแก้ไขกฎหมายจะพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ทราบว่า ขณะนี้ สนช. ปิดรับกฎหมายเสนอใหม่แล้ว เพราะจะเร่งกฎหมายในมือที่ยังค้างภายใน 2 เดือน แต่ ก.พ. เตรียมร่างแก้ไขกฎหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว


เดินหน้าลดอัตรากำลังคน
นอกจากการขยายเวลาเกษียณอายุราชการแล้ว รัฐบาลยังมีแนวทางปรับลดอัตรากำลังทั้งหมดของบุคลากรภาครัฐ ที่มีทั้งหมดกว่า 3 ล้านคน ในข้าราชการทุกประเภท ทั้งข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และส่วนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมีการปรับกรอบอัตรากำลังและงบประมาณบุคลากรภาครัฐ จากปัจจุบัน ที่มีค่าเฉลี่ย 40-50% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เหลือไม่เกิน 30% เพราะประเทศไทยใช้กำลังคนจำนวนมาก ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศน้อย บางหน่วยงานมีงบบุคลากรสูงถึง 70%

 

[caption id="attachment_337768" align="aligncenter" width="503"] วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี[/caption]

"บางงานที่ไม่มีตำแหน่งข้าราชการ ก็สามารถใช้วิธีจ้างเอกชนเข้ามาช่วยแทนการเปิดตำแหน่งข้าราชการ แม้ค่าจ้างจะแพงกว่าจ้างข้าราชการมาก แต่ก็ไม่มีภาระบำเหน็จบำนาญในระยะยาว เพราะรัฐบาลมีนโยบายตัวเลขค่าใช้จ่ายต้องไม่สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะจะไปเก็บภาษีประชาชนเพิ่มขึ้นคงลำบาก ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ต้องพยายามลดเรื่องค่าใช้จ่ายของคน โดยเริ่มจากลดให้ได้ 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายภาครัฐ"

นางเมธินี กล่าวว่า ระบบราชการ เมื่อเกษียณแล้วยังได้เงินบำนาญ ประกอบกับอัตราการเสียชีวิตก็ลดลง ทำให้ภาระส่วนนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจึงพยายามกระตุ้นด้วยมุ่งสู่รัฐบาลดิจิตอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดขนาดของจำนวนข้าราชการ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานบริการประชาชนด้วยระบบดิจิตอล นำไปสู่การลดอัตรากำลังในบางกลุ่มงาน


เพิ่มเงินเดือนกลุ่มมัลติสกิล
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการปรับอัตรากำลังข้าราชการ ว่า หากลดจำนวนข้าราชการลงแล้ว ค่าตอบแทนของข้าราชการต้องดีขึ้น เพราะในอนาคต ข้าราชการ 1 คน ต้องมีความสามารถหลากหลาย หรือ Multi Skill ฉะนั้น ค่าตอบแทนจะตายตัว หรือ Fix all ไม่ได้ เพราะหากเทียบกับเอกชน ถ้าทำงานหลายอย่างก็จะมีค่าตอบแทนมากขึ้นตามความสามารถ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีคนเก่งอยู่ในระบบราชการ

"ผลศึกษานี้ สำนักงาน ก.พ. ก็กำลังเร่งทำอยู่ใกล้จะเสร็จแล้ว ตั้งใจว่าจะเสนอในรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลนี้มอบหมายงานให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการปฏิรูประบบราชการ ก็คิดว่าจะเสนอให้ได้ก่อนหมดรัฐบาลนี้ จะเสนอเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนจะซื้อไอเดียหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็น" เลขาธิการ ก.พ. กล่าว

ส่วนจำนวนข้าราชการจะลดลงเท่าไหร่ ขอยังไม่เปิดเผย แต่เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่ช่วง 1 ปีจากนี้ จะได้เห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดโครงการเกษียณก่อนกำหนด เพราะ ก.พ. เคยมีประสบการณ์มาแล้ว แต่ปรากฏว่า คนที่ต้องการให้อยู่กลับออก ส่วนคนที่ต้องการให้ออกกลับยังอยู่ในระบบราชการ


หั่นงบข้าราชการ 2.3 แสนล้าน

รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลตั้งเป้าลดงบประมาณรายจ่ายแผนงานบุคลากรภาครัฐลงกว่า 2.3 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน ในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายแผนงานบุคลากรภาครัฐทั้งสิ้น 1,060,960 ล้านบาท ตั้งเป้าปรับลดลงเหลือ 823,583.88 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 หรือ ลดลง 237,376 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2564 คาดว่ารายจ่ายแผนงานบุคลากรภาครัฐจะอยู่ที่ 860,730.32 ล้านบาท และปี 2565 ที่ 898,509.55 ล้านบาท ตามลำดับ


P1-INFO-3412

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25 - 27 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"วิษณุ" เผย ขยายเกษียณอายุราชการเป็น 63 ปี ไม่ทันรัฐบาลนี้
K&K Balance ทุ่ม 100 ล้าน ผุดศูนย์วัยเกษียณครบวงจร

เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7