K&K Balance ทุ่ม100ล้าน ผุดศูนย์วัยเกษียณครบวงจร

04 ส.ค. 2561 | 03:28 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจแน่นอนว่า ย่อมอยู่ที่ผลกำไรที่จะได้รับตอบแทนกลับคืนมา จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เริ่มอิ่มตัว และเริ่มมีอายุเพิ่มมากขึ้นเป้าหมายในการทำธุรกิจก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ กำไรที่เป็นมูลค่าในรูปตัวเงินอาจจะมีความสำคัญลดลงไป

กิติมา หัตถีรัตน์ หญิงเก่งมากความสามารถในเชิงธุรกิจผู้มีประสบการณ์โชกโชนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ และเฟอร์นิเจอร์ส่งออก ค้นพบความสำคัญของการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มากกว่าผลกำไรที่ได้กลับคืนมา แต่เป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพให้กับลูกค้าภายใต้ธุรกิจใหม่

606
จากประสบการณ์สู่ธุรกิจ

กิติมา ในฐานะประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เค เค สรีระสมดุลด้วยกายภาพบำบัด จำกัด เปิดอกพูดคุยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” อย่างตรงไปตรงมาว่า กว่า 30-40 ปีที่ผ่านมาเธอเป็นนักธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และทำเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ส่งออก แต่ด้วยความที่มีอายุมากขึ้น และเป็นคนที่รักสุขภาพ โดยเป็นคนที่ดูแลตัวเองมาตลอด ไม่เคยที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาการป่วยขนาดหนัก จึงให้ความสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และคิดที่จะมีธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพดังกล่าวเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ เมื่อมีสถานประกอบการเกี่ยวกับการกายภาพบำบัดต้องการที่จะเซ้งกิจการ ตนจึงไม่ลังเลที่จะรับกิจการมาทำต่อด้วยความเต็มใจ เพราะด้วยส่วนลึกอยู่แล้วมีความตั้งใจที่จะเปิดศูนย์บริการเพื่อวัยเกษียณ แต่เมื่อมีโอกาสตรงนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ โดยให้ชื่อว่าคลินิกสรีระสมดุลคลินิกกายภาพบำบัด ซึ่งบริหารภายใต้แบรนด์ K&K Balance โดยการให้บริการของคลินิกจะประกอบไปด้วย 1.ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedics system) 2.ระบบประสาท (Neurological system) 3.ระบบหัวใจและปอด (Cardiopulmonary system) และ 4. กายภาพบำบัดในเด็ก (Pe-diatric Physical Therapy)

67

“ตนเป็นคนที่ชอบนวดแผนโบราณมาก โดยว่าจ้างหมอให้มานวดที่บ้านเป็นเวลา 10 ปี 3 วันต่อครั้งในเวลากลางคืนก่อนนอน แต่หลังจากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตนเองนั่งนานไม่ได้ จะมีอาการปวดหลัง เมื่อไปทำการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบว่ากระดูกเคลื่อนไปเล็กน้อย จึงไปหาหมอกระดูก และพบสาเหตุที่เป็นก็เพราะไปทำกับผู้ที่ไม่รู้เรื่องแบบนี้ ตนจึงสนใจและตั้งใจว่าเมื่ออายุมากขึ้นรวมถึงมีเวลาและกำลังจะต้องเปิดเป็นศูนย์วัยเกษียณรักษาร่างกาย แต่บังเอิญมาได้ทำธุรกิจดังกล่าวนี้ก่อน

ตรงจุด ไม่เลี้ยงไข้ ไม่ใช้ยา

สำหรับจุดเด่นในการให้บริการของคลินิกนั้น จะอยู่ภายใต้สโลแกน “รักษาตรงจุด ไม่เลี้ยงไข้ ไม่ใช้ยา” โดยมีนักกายภาพที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 10 คน ซึ่งจะคัดเฉพาะนักกายภาพที่มีความรู้ทางด้านกายวิภาค ศาสตร์ที่ครบถ้วนเท่านั้นมาให้บริการ โดยที่ทุกคนจะเรียนการผ่าศพอาจารย์ใหญ่ แต่จะเป็นการเรียนเฉพาะกระดูกกับเส้นเอ็น และภายในทั้งหมดว่ามันอยู่ตรงไหน อย่างไร เพื่อเวลารักษาปรับสมดุลให้ร่างกาย ซึ่งในความหมายของนักกายภาพก็คือการปรับกระดูกและเส้นเอ็นให้อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่

59

นักกายภาพที่คลินิกจะมีความเชี่ยวชาญในทุกสาขา ขณะเดียวกันคลินิกเองก็จะมีการส่งไปอบรม และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยตลอดจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพในการให้บริการ ขณะที่เครื่องมือทางการรักษาที่นำมาใช้ควบคู่กันก็จะเป็นเครื่องมือที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยรักษาอาการบาดเจ็บบางจุดที่มือไม่สามารถรักษาได้
ทุ่ม100 ล้านทำศูนย์วัยเกษียณ

กิติมา กล่าวต่อไปถึงแผนในการขยายธุรกิจด้วยว่า ขณะนี้ได้ใช้งบลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำเป็นศูนย์วัยเกษียณในรูปแบบของโฮมสเตย์แบบครบวงจร บนพื้นที่ 3 ไร่ของทำเลเขตดอนเมือง โดยภายในศูนย์จะมีบริการทางด้านกายภาพ มีสระว่ายนํ้าที่เป็นวารีบำบัด มีห้องประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ และเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 7 เดือนจะแล้วเสร็จ โดยการทำตลาดในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศก่อน ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็ได้มีการโรดโชว์ที่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ศูนย์ดังกล่าวนี้เป็นเสมือนการต่อยอดธุรกิจของ K&K Balance ซึ่งจะให้บริการเฉพาะกายภาพเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถค้างคืนได้ตามกฎหมายของการเปิดคลินิก และมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 22 เตียงเท่านั้น แต่ที่ศูนย์จะมีเตียงเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 100 เตียง โดยทั้ง 2 แห่งจะมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะให้บริการรักษาแบบมีกลไก เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรถรับส่งผู้ป่วยแบบเช้าไปเย็นกลับตาม ที่ได้ไปศึกษาดูงานมา เพราะมองว่ายุค ปัจจุบันมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ลูกหลานมีฐานะรํ่ารวยแต่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล ต้อง การบริการดังกล่าวแบบนี้อยู่อีกมาก

“หากถามถึงเป้ารายได้ในการทำธุรกิจ ตนคงไม่ได้มุ่งเน้นไปสิ่งที่สำคัญ ขอเพียงแค่การบริหารงานให้มีกำไรก็พอ โดยเป้าหมายที่แท้จริงก็คือ การรักษาคนไข้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงทำอย่างไรให้คนไข้เข้าใจเรื่องของสรีระ และจะต้องทำอย่างไรหายป่วย นอกจากนี้จะต้องทำให้คนไม่ป่วยรู้จักรักษาตัวเองให้ได้ ดังนั้น ตนจึงวางเป้าหมายหลักไว้ที่การให้บริการ หลังจากนั้นทุกอย่างก็จะตามมาไม่ว่าจะเป็นลูกค้าและรายได้ แต่หากตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขการให้บริการทุกอย่างก็จะหย่อนยานลง เพราะจะไม่สนใจเรื่องคุณภาพ มุ่งแต่จะทำให้ได้ตามเป้า ซึ่งเป็นการกดดันการทำงาน โดยเราเลือกที่จะให้หุ้นของบริษัทกับนักกายภาพทุกคน ซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และต้องบริการให้ได้ดีที่สุด”
คนไข้ต้องมาเป็นอันดับ 1

ขณะที่หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น จะเลือกให้ความสำคัญกับลูกค้า หรือคนไข้มาเป็นลำดับแรก โดยมีบริษัทตามมาเป็นลำดับที่ 2 และพนักงานเป็นลำดับที่ 3 ยกตัวอย่างเช่น ตนชอบอ่านหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ตนก็จะไม่ได้บอกว่าชอบผู้เขียนแต่จะบอกว่าชอบที่หนังสือพิมพ์ คอลัมน์ไหน หลังจากนั้นจึงจะมาดูว่าคอลัมน์นั้นผู้ใดเป็นคนเขียน วิธีคิดของบริษัทก็เช่นเดียวกัน เพราะในเวลาที่คลินิกรักษาคนไข้ คนไข้จะไม่เอ่ยถึงบริษัท แต่จะเอ่ยว่ามารักษาที่คลินิก

“นักภายภาพ และพนักงานทุกคนจะมุ่งเน้นว่าคนไข้ต้องมาอันดับ 1 ชื่อเสียงของบริษัทมาอันดับ 2 ผู้ที่ทำการรักษาต้องเป็นอันดับ 3 เราถึงจะอยู่ได้  อีกทั้งยังเน้นเรื่องของจริยธรรมของนักกายภาพด้วย”

66

ด้านภาพรวมของธุรกิจในอนาคต ต้องการให้คนไทยหันมาดูแลตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยภาพลักษณ์ของคนไทยที่เป็นคนรักความสบาย และมักจะไม่ค่อยไปโรงพยาบาลหากไม่เจ็บป่วยรุนแรงจนทนไม่ไหวจริงๆ ดังนั้น จึงต้องการให้ทุกคนมีระเบียบวินัยในการดูแลตัวเอง การเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลง โดยใช้การให้บริการของคลินิก หรือที่ศูนย์เป็นตัวกลางในการรักษาสุขภาพ

ส่วนแนวโน้มของการทำธุรกิจนั้น เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะประเทศไทยกำลัง จะเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563 เช่นเดียวกับอีกหลาย ประเทศ โดยจะเห็นได้จากสินค้าและบริการที่มีมากขึ้นเพื่อรองรับตลาด
เรื่อง : นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฎ

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3383 วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2561

e-book-1-503x62