จับประเด็นร้อนมองต่างมุม มาสเตอร์แพลน‘สุวรรณภูมิ’

20 ต.ค. 2561 | 06:40 น.
จากมติของ 12 องค์กรวิชาชีพด้านสถาปนิกและวิศวกรรวมถึงสมาคมสถาปนิกสยาม และสภาสถาปนิก ที่ต่างออกมาทำหนังสือถึงนายกฯ “บิ๊กตู่” โดยมีมติคัดค้านโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ และมีมติยืนยันให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เร่งดำเนินการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ภายใต้มาสเตอร์แพลนเดิมที่วางไว้ในปี 2546 แทนการใช้แผนแม่บทในปี 2561 ทั้งนี้มติดังกล่าวของฝ่ายค้าน ชัดเจนว่าตัดสินใจจากฐานข้อมูลของ “ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์” อดีตผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ฯหรือบทม.และ “สามารถ ราชพลสิทธิ์” ขณะที่ทอท.ก็มองถึงการใช้ประโยชน์การพัฒนาพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ในสนามบินสุวรรณภูมิให้เกิดประโยชน์สูงสุด “ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้รวบรวมข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่ายมานำเสนอ ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นการมองต่างมุม

ไม่มั่นใจทอท.ทำแผนเอง

[caption id="attachment_335195" align="aligncenter" width="503"] สมเจตน์ ทิณพงษ์ สมเจตน์ ทิณพงษ์[/caption]

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การขยายสนามบิน ทอท.มักจะอ้างว่าได้นำมาจากข้อแนะนำของ ICAO ซึ่งหากทอท.มีข้อมูลจาก ICAO มายืนยันได้ว่าแผนแม่บทปัจจุบันนี้ สามารถขยายสนามบินแล้วรองรับผู้โดยสาร 135-150 ล้านคนได้จริง สำหรับผมก็ถือว่าจบ แต่เท่าที่ดูการทำแผนแม่บทนี้ ดำเนินการโดยทอท.เองทั้งหมด แล้วผมจะเชื่อได้ไงว่าขยายแล้วจะรับได้ หากเทียบกับแผนแม่บทปี 2546 ที่ร่วมจัดทำโดยบริษัทระดับโลก อย่าง NACO ที่เป็นผู้ออกแบบสนามบินใหญ่อย่างฮีตโธรว์ และกำลังร่วมกับ Foster & Partners ทำสนามบินที่ใหญ่ที่สุดอย่างเม็กซิโก ได้อย่างไรและสิ่งที่ทอท.นำข้อเสนอของ ICAO มาใช้ก็ไม่ได้เอามาทั้งหมด

โดยเฉพาะประเด็นการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ทอท.แปะขึ้นมาใหม่ในแผน ซึ่งข้อแนะนำของ ICAO เสนอแค่ให้พัฒนาอาคารเทียบเครื่องบินรองในลักษณะ Concourse Annex ซึ่งจากการตีความจะต้องเป็นการพัฒนาอาคารขนาดเล็ก ไม่ใช่การพัฒนาอาคารรอง รับผู้โดยสารขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 3 แสนตร.ม.

อีกทั้งยังไม่เห็นความจำเป็นที่ทอท.ต้องมาสร้างอาคารหลังที่แปะขึ้นมาใหม่นี้ ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ควรเร่งไปขยายสนามบินตามแผนแม่บทปี 2546 ที่วางไว้แล้ว เพราะถือว่ามีความสมบูรณ์อยู่แล้ว  ที่วางไว้เป็นระยะครอบคลุมการขยายตัวของผู้โดยสารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกที่ใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ก็ขยายการรองรับผู้โดยสารรวมกันได้ 30 ล้านคนเหมือนกัน และการพัฒนาเฟสสุดท้ายก็มีแพลนอยู่แล้ว ที่จะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้ ที่เป็นกระจายการเดินทางเข้าสนามบินได้มาจากถนนบางนา-ตราด

แผนเดิม 120 ล.คนเพียงพอ

[caption id="attachment_335194" align="aligncenter" width="459"] สามารถ ราชพลสิทธิ์ สามารถ ราชพลสิทธิ์[/caption]

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิขยายสูงสุดที่ 120 ล้านคน ตามแผนแม่บทเดิมถือว่าเหมาะสม เพราะต่อไปการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ก็จะเป็นการกระจายผู้โดยสารได้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องขยายสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทใหม่ของทอท.ถึง 150 ล้านคน ซึ่งเป็นการเสียเงินเสียทอง ทำไม

อีกทั้งคำแนะนำของ ICAO ที่ทอท.นำมาใช้ในการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่กำลังจะทำอยู่ ก็เป็นผลการศึกษาที่ตอนนั้นใช้นโยบายซิงเกิล แอร์พอร์ต (ปิดดอนเมืองใช้สนามบินสุวรรณภูมิ) แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะเราใช้ควบทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และอาคารหลังใหม่นี้ทอท.ตั้งใจจะให้การบินไทยไปใช้ แต่การบินไทยก็คงไม่อยากไป เพราะไปก็คงมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมองว่าหากทอท.ทำตามแผนเดิม คือเร่งขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกก่อน ก็สามารถทำได้ทันทีเพราะมีการออกแบบไว้หมดแล้ว สร้างได้ทันที ไม่เห็นความจำเป็นต้องยืดเวลา ขณะที่การสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ยังอยู่เพียงขั้นตอนออกแบบ ยังไม่ผ่านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และหากไม่ผ่านครม.ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทอท.ยันใช้ประโยชน์สูงสุด

[caption id="attachment_335193" align="aligncenter" width="386"] เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย[/caption]

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. กล่าวว่าทอท.คำนึงถึงความต้องการและการใช้งานของผู้โดยสารเป็นหลัก จึงมีการปรับปรุงแผนแม่บททุก 5 ปีตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้ได้แผนการขยายสนามบินที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งแผนแม่บทปี 2561 ที่จะขยายการรองรับผู้โดยสารสูงสุดจาก 120 ล้านคนเป็น 150 ล้านคนในปี 2565 ด้วยการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพิ่มจากแผนเดิมขึ้นมาอีก 1 อาคาร รวมเป็น 3 อาคาร

โดยการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ทิศเหนือของทอท.ที่เพิ่มขึ้นมาจากแผนแม่บทเดิมเป็นการพัฒนามาจากข้อเสนอแนะของ ICAO ในปี 2554 ที่แนะนำว่ามีพื้นที่ด้านเหนือบริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน A ที่สามารถพัฒนาเป็น Concourse A-Annex (การพัฒนาอาคารที่แยกเป็นอิสระต่อเนื่องกับอาคารเทียบเครื่องบิน A เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศทั้งขาเข้าและออก ที่จะมีขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี และสามารถปรับระบบถนนทางเข้าเพื่อเชื่อมต่ออาคารหลังใหม่นี้ได้  ซึ่งสามารถพัฒนาการใช้อาคารได้สูงสุดรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน

MP22-3405-A

ทอท.จึงนำข้อเสนอนี้มาและเห็นว่าพื้นที่นี้มีหลุมจอดอยู่แล้ว 14 หลุม ที่เราจะสามารถพัฒนาเป็นหลุมเหล่านี้ให้เป็นหลุมจอดประชิดอาคารได้แทน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการเดินขึ้นเครื่องได้ทันที แทนที่จะต้องมาต่อรถเพื่อไปขึ้นเครื่อง และเรามองว่าการบริหารจัดการอาคารหลังนี้ แทนที่จะทำเฉพาะการรองรับเที่ยวบินในประเทศ แต่การทำให้รองรับได้ทั้งเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ จะยิ่งเพิ่มประโยชน์การ บูรณาการหลุมจอดได้เพิ่มขึ้น

แผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิปี 2561 ของทอท.เป็นการเพิ่มเติมเฟสการพัฒนาขั้นมาเป็น 5 เฟส เพื่อให้การขยายสามารถทันต่อการรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้ ขณะที่แผนการพัฒนาต่างๆ ที่อยู่ในแผนแม่บทปี 2546 ทอท.ก็ยังทำทุกโครงการเหมือนเดิม แต่ปรับการดำเนินการให้เหมาะสมที่จะทำให้สามารถพัฒนาได้เร็วและขยายการรองรับได้เพิ่มขึ้น เพราะการขยายอาคารด้านตะวันตกและตะวันออก จะส่งผลกระทบต่อการบริการอย่างมาก สำหรับอาคารที่ใช้งานอยู่เต็มขีดความสามารถอยู่ในปัจจุบัน การแยกทำอาคารอิสระออกมาก่อนจะทำได้เร็วกว่า จากนั้นจึงจะมีพื้นที่สำหรับการไปขยายอาคารปัจจุบันทางด้านตะวันตกและตะวันออก และสุดท้ายคือไป สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ด้านทิศใต้ ที่ต้องมีการพัฒนาเรื่องสาธารณูปโภครองรับและเกี่ยวพันหลายหน่วยงานที่แต่ละหน่วยงานมีความพร้อมไม่เท่ากัน

ทั้งหมดล้วนเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน ที่ทุกคนมีสิทธิ์คิดต่างๆ แต่ท้ายสุดการตัดสินใจก็คง อยู่ที่ทอท.และรัฐบาลนั่นเอง

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3411 ระหว่างวันที่ 21 - 24 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62