"กุลิศ สมบัติศิริ" คลายทุกปมเร่งด่วนด้านพลังงาน

15 ต.ค. 2561 | 05:19 น.
หลังจากที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นมา ก็ได้เดินสายไปทำความรู้จักกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานทันที เพื่อที่จะเรียนรู้งานและต้องปฏิบัติหน้าที่ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานตามกรอบที่วางไว้ทั้ง 6 ด้าน 17 ประเด็น ซึ่งในแต่ละเรื่องถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะเข้าดำเนินการ และเป็นประเด็นร้อน ๆ ของวงการพลังงานที่ต้องจับตา


tp9-3408-a

ประมูลเอราวัณ-บงกช
โดย นายกุลิศ ได้กล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนว่า จะสานต่อนโยบายตามที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ ไม่ว่าการผลักดันการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทานลงในเดือน เม.ย. 2565 และ มี.ค. 2566 (ตามลำดับ) โดยจะให้ทุกขั้นตอนการเปิดประมูลเกิดความโปร่งใสและให้ได้ผู้ชนะการประมูลตามกรอบแผนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และจะยึดการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเป็นหลัก

อีกทั้งยังยํ้าถึงความพร้อม เตรียมเดินหน้าบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว เพื่อให้สามารถผลิตและนำก๊าซธรรมชาติมาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญในการขึ้นสู่แม่ทัพใหญ่ของกระทรวงพลังงานเวลานี้ เพราะแหล่งเอราวัณและบงกช นอกจากจะนำก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นทรัพยากรพลังงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสามารถแปรสภาพเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อใช้ในครัวเรือน และเป็นก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ (NGV) ใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

จากข้อกำหนดของการเปิดประมูลครั้งนี้ จะเกิดการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชให้ได้ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วง 10 ปีแรกของสัญญา โดยสัญญาจะมีอายุ 20 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปี และกระทรวงพลังงานคาดว่า การเปิดประมูลครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนในไทยสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท


คลายปมกองทุนอนุรักษ์ฯ
นอกจากนี้ ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นายกุลิศได้ส่งสัญญาณว่า จะเดินหน้าพิจารณาการยื่นขอรับสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับโครงการในปี 2561 (เพิ่มเติม) ภายใต้กลุ่มโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน" วงเงิน 5,200 ล้านบาท ส่วนการพิจารณางบประมาณในปี 2562 วงเงิน 10,448 ล้านบาทนั้น จะทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติงบประมาณใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม จำเป็น ไม่ซํ้าซ้อน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พร้อมจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้ชัดเจน เช่น โครงการตามพระราชดำริจะพิจารณาเป็นอันดับแรก รวมถึงพิจารณาว่า งบประมาณที่ยื่นขอเข้ามาจะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ หรือ มีงบประมาณสำหรับบำรุงรักษาในระยะต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาประเมินผลด้วย

"งบปี 2562 ที่เดิมคณะกรรมการอนุมัติแล้ว 7,000 ล้านบาท จากที่ยื่นขอมาราว 3 หมื่นล้านบาท ต้องมาพิจารณาใหม่ เพราะมีวงเงินอยู่แค่ 10,448 ล้านบาท ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จำเป็นต้องอนุมัติถึง 1 หมื่นล้านบาทหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็น ก็อาจจะอนุมัติแค่โครงการที่ตอบคำถามสังคมได้ และยืนยันว่า การพิจารณางบกองทุนจะเน้นความคุ้มค่าและประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก" ปลัดกุลิศ กล่าว


ผลักดันแผนปฏิรูป
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็น ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญที่นายกุลิศ จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายตามกรอบการปฏิรูปภายในระยะเวลา 5 ปี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง เดินหน้าปลดล็อกกฎระเบียบ เพื่อให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกเกิดความคล่องตัวและเติบโตยิ่งขึ้น รวมถึงการยกระดับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รับเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร (BEC) และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานอาคารรัฐด้วยกลไก ESCO

นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในช่วงกลางแผนจึงมุ่งเน้นขจัดการทับซ้อนในองค์กร โดยการสร้าง Code of Conduct ระหว่างหน่วยงานพลังงาน และเกิดการสร้างศูนย์ One Stop Service อย่างแท้จริง เพื่อให้การอนุมัติการผลิตไฟฟ้าทำได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือได้ สู่การวิเคราะห์รอบด้านและลดการบิดเบือนข้อมูลพลังงาน


ทะยานสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
ศึกษาและกำหนดทิศทางการจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงภาคขนส่ง ในระยะยาว ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ที่ประชาชนจะสามารถเสนอพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าได้เอง โดยในช่วง 3 ปีสุดท้ายของการปฏิรูป จะเกิดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน ทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บกักพลังงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เสริมสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว การสร้างโรงไฟฟ้า สายส่งที่ลํ้าสมัย การลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีระยะใหม่

ท้ายสุด ประชาชนจะเกิดทางเลือกที่สามารถผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างเสรี ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงาน ในขณะเดียวกัน สามารถบังคับใช้กฎหมาย หรือ ระเบียบด้านการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อทุกภาคส่วน การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานทั้งหมดนี้ จะเป็นทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป


หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11-13 ตุลาคม 2561

595959859