คาด E-Commerce ดันการค้าชายแดน เพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2566

29 ก.ย. 2561 | 02:00 น.
 

ประเด็นสำคัญ

•การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย 8 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่า 9.2 แสนล้านบาท ขยายตัว 6.5% โดยการค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการค้าชายแดนของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 11.5% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะถูกขับเคลื่อนโดยการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับจีนและเวียดนามเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี

•การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ ความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงระหว่างอาเซียนกับจีนจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ซึ่งจะส่งผลให้การค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น

•ความร่วมมือกันในอาเซียนที่จะลดการกีดกันทางการค้าและข้อจำกัดทางพิธีการศุลกากรจะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกันมากขึ้น โดยปัจจุบันอาเซียนอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) อีกทั้ง ประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้มีข้อตกลงร่วมกันเพื่อจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนยิ่งขึ้น

•ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของ E-Commerce ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลาง E-Commerce และ โลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยไทยจะเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะผลักดันให้การค้าชายแดนขยายตัวอีกทางหนึ่ง

การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย 8 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่า 922,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออก 525,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% และ การนำเข้า 397,258 เพิ่มขึ้น 15.6% ทั้งนี้ มาเลเซียยังคงมีสัดส่วนในการค้าชายแดนมากสุด แต่มีอัตราการเติบโตเพียง 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคายางพาราที่ลดลง ในขณะที่ การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าอัตราการเติบโตของการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยจะชะลอตัวจากอัตราการเติบโตที่ 9.8% ของปี 2560 เหลือ 6.5% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าทั้งปี 2561 มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในรูปของเงินบาทจะขยายตัวราว 7.5% จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะยังอยู่ในระดับสูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงจากปีก่อน

เมื่อมองไปข้างหน้านี้ การค้าโลกที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงจากข้อพิพาททางการค้าคงช่วยเร่งให้ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจีน พยามเพิ่มการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มอาเซียนกลับมีสัดส่วนการค้าภายในกลุ่มลดลง ในขณะที่ สัดส่วนการค้ากับประเทศนอกกลุ่มโดยเฉพาะกับจีนกลับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและอาเซียน อาจกล่าวได้ว่าจีนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอนุภูมิภาคและเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการค้าภายในภูมิภาค ทั้งนี้ การค้าภายในภูมิภาคยังคงมีศักยภาพในการเติบโตอยู่ โดยการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค ซึ่งจะเกิดจากการเชื่อมโยงทางบกเป็นหลัก จะช่วยผลักดันการค้าภายในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าผ่านชายแดนให้เติบโตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวของ E-Commerce และการลดมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงข้อจำกัดทางพิธีการศุลกากรนั้น จะช่วยกระตุ้นการค้าผ่านชายแดนภายในภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเหล่านี้จะส่งผลให้การค้าชายแดนมีทิศทางที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเติบโตเพิ่มขึ้นที่ราว 11.5% ต่อปีโดยเฉลี่ยในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 6.4% ต่อปีระหว่างปี 2553-2560 โดยมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2560 kb01 kb02

 

การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนกับอาเซียน...ปัจจัยผลักดันการขยายตัวของการค้าชายแดนในอนาคต

การขยายตัวของการค้าชายแดนในอนาคตจะถูกขับเคลื่อนโดยการค้าชายแดนไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้เป็นหลัก เนื่องจากการค้าชายแดนกับประเทศอื่นในภูมิภาคส่วนใหญ่นั้นเป็นการค้าขายสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ (Commodities) และพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตเท่าที่ควรในอนาคตจากปัจจัยวัฏจักรด้านราคา อีกทั้งขาดปัจจัยผลักดันศักยภาพในการเติบโตให้สูงมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันการค้าชายแดนกับจีนตอนใต้และเวียดนามยังมีสัดส่วนที่ต่ำอยู่เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าทั้งหมด อย่างไรก็ดี การค้าชายแดนไปประเทศเหล่านี้มีอัตราเติบโตที่สูง เมื่อเทียบกับการค้าชายแดนไปประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของการค้าชายแดน โดยสินค้าที่ไทยส่งออกผ่านชายแดนไปยังจีนตอนใต้ส่วนมากเป็นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าเหล่านี้ สำหรับเวียดนาม การส่งออกผลไม้มีมูลค่าประมาณ 50% ของการส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปยังเวียดนามทั้งหมด ซึ่งส่วนมากจะนำไปแปรรูปและส่งออกไปยังประเทศจีนต่อไป ในขณะที่ สินค้านำเข้าผ่านชายแดนจากจีนตอนใต้และเวียดนามส่วนมากเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะยังเติบโตได้ดีในอนาคตข้างหน้า

kb03 kb04 kb05

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ประเทศจีนมีการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนมีแนวโน้มที่จะต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของจีนจากความสามารถที่โดดเด่นในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปจีนได้ดี ได้แก่ วงจรรวม (Integrated circuit: IC) วงจรพิมพ์ (Printed circuit) แผงควบคุมหรือจ่ายกระแสไฟฟ้า  ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงจรรวม ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่างๆ  เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จีนนำเข้ามากที่สุดและมีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกถึง 4 เท่า  ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกวงจรรวมจากไทยไปจีนอยู่ที่ราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 22.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยจีนมีแนวโน้มที่จะต้องการวงจรรวมและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มากขึ้นในอนาคตจากการขยายตัวของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่างๆ  การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยและจีนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นี้จะทำให้ไทยสามารถกอบโกยโอกาสจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในจีนที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต และจะส่งผลให้เกิดขยายตัวของการค้าชายแดนระหว่างไทยและจีนมากขึ้น

kb06

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงจีนและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะยิ่งเร่งให้มีการค้าชายแดนระหว่างไทยกับจีนมากขึ้น โดยเส้นทางรถไฟ Pan-Asia ที่เชื่อมโยงจีนกับไทยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2565 อีกทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) เริ่มมีการดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ในภูมิภาค ความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์เหล่านี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะส่งออกสินค้าในประเทศและนำเข้าสินค้าจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้สะดวกมากขึ้น โดยระยะเวลาขนส่งทางบกจะรวดเร็วกว่าทางเรืออย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ ต้นทุนการขนส่งทางบกคาดว่าจะลดลงอย่างมาก ซึ่งจะทำให้มีการแทนที่การขนส่งทางเรือด้วยการขนส่งทางบกมากขึ้นและจะสนับสนุนให้การค้าชายแดนขยายตัวอีกด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันการค้าชายแดนระหว่างไทยกับจีนตอนใต้โดยมากจะผ่านทางลาวและเวียดนาม ไปยังเขตปกครองตนเองกว่างซีในจีนตอนใต้ต่อไป ซึ่งแต่เดิมการขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังกว่างซีทางเรือใช้เวลาถึง 14 วัน แต่ปัจจุบันจะใช้เวลาเพียง 6 วันทางบก นอกจากนี้ ภายใต้การพัฒนาเส้นทาง “Belt and Road Initiative” ของจีน กว่างซีจะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงประเทศจีนกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และมีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเนื่องจากเชื่อมต่อกับหลายมณฑลในจีน เช่น กวางตุ้ง หูหนาน ยูนนาน กุ้ยโจว รวมถึง นครฉงชิ่ง ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราค่าแรงงานที่สูงขึ้นในเขตอุตสาหกรรมจีนตะวันออก ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตมายังจีนตะวันตกซึ่งมีอัตราค่าแรงงานถูกกว่ามากขึ้น โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ในนครฉงชิ่งและเขตปกครองตนเองกว่างซีมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง เขตปกครองตนเองกว่างซีมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ นครฉงชิ่งมีการสนับสนุนการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่มากขึ้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล่านี้ในจีนตะวันตกจะส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างจีนกับไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น

เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตโทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อันดับต้นๆ ไปยังจีน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนั้น ส่งผลให้เวียดนามมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยการส่งออกชิ้นส่วนไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 174.4% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ การส่งออกวงจรรวมมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 61.0% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อุปสงค์ของโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart electronics) ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวได้ดีในอนาคต อีกทั้ง การผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในจีนจะยิ่งกระตุ้นความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากเวียดนามมากขึ้น ดังนั้น การที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนั้น จะส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้รับประโยชน์จากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม kb07

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยและเวียดนามมีแนวโน้มที่จะผ่านทางบกมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างมากของการค้าชายแดนระหว่างไทยและเวียดนาม โดยเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจใต้ (Southern Economic Corridor) สาย R1 จะเชื่อมโยงไทยกับเวียดนามทางตอนใต้ที่มีฐานการผลิตที่สำคัญ เช่น โฮจิมินห์ ในขณะที่ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) สาย R9 จะเชื่อมโยงไทยกับเวียดนามทางตอนเหนือที่มีฐานการผลิตที่สำคัญ เช่น ฮานอย บั๊กนิญ และ ท้ายเงวียน นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคได้มีการร่วมมือกันที่จะลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ เช่น ประเทศในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) อันได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และ จีน ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน (Cross-border transport facilitation agreement: CBTA) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยมีการอนุญาตให้รถยนต์ของประเทศในกลุ่ม GMS สามารถเข้ารับส่งสินค้าของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มได้ ภายใต้โควตารถยนต์ที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ ทั้งนี้ ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนคาดว่าจะมีการนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบทั้งภูมิภาคในปี 2563 นอกเหนือจากนั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้มีการร่วมมือกันที่จะลดข้อจำกัดทางพิธีการศุลกากร โดยปัจจุบันอาเซียนอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) รวมถึงมีความพยายามในการปฏิรูประบบศุลกากรให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดทางพิธีการศุลกากร และส่งผลให้การค้าผ่านชายแดนสะดวกขึ้น

E-Commerce จะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนให้เติบโตยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน E-Commerce มีการขยายตัวอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าผ่านชายแดนให้ขยายตัวมากขึ้น โดยจากการวิจัยของ Google และ Temasek คาดการณ์ว่าตลาด E-Commerce ในอาเซียนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 30% ต่อปี และจะมีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านดิจิตอลค่อนข้างสูง โดยประชากรมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสูงสุดในภูมิภาค และจากการสำรวจของธนาคารโลก ประชากรไทยมีการใช้จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ค่อนข้างสูง  ดังนั้น ไทยถือว่ามีศักยภาพทางโครงสร้างมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทต่างชาติ เช่น Alibaba เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม E-Commerce ในไทย โดยมุ่งหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดในจีนได้มากขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นในรูปแบบ Business-to-Business (B2B) ซึ่งจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนกับไทยมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ โครงการเขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างจีนกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งภายในพื้นที่เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน บริษัทสามารถทำเรื่องขออนุญาตส่งออกได้อย่างง่ายดายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากและระยะเวลาในการส่งออกสินค้าผ่านศุลกากร ทั้งนี้ การนำเข้าผ่านทาง E-Commerce ข้ามพรมแดนของจีนเติบโตราว 58.3% ในปี 2017  และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการค้าชายแดนระหว่างไทยและจีนยิ่งขึ้น โดย E-Commerce ข้ามพรมแดนของไทยคาดว่าจะขยายตัวราว 25% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

kb08

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าชายแดนในภูมิภาคให้ยิ่งสูงขึ้น อีกทั้ง E-Commerce ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบ Business-to-Customer (B2C) จากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นและจากการพัฒนาระบบ E-Payment ภายในประเทศ โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ เช่น โครงการพัฒนาระบบจ่ายเงินผ่าน QR code ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งชาวกัมพูชาสามารถซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยโดยใช้สกุลเงินเรียลของตนเองผ่านระบบ E-Payment นอกจากนี้ จากการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สินค้าไทยได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ E-Commerce ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ E-Commerce ในรูปแบบ B2C ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค โดยจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ E-Commerce ในรูปแบบ B2C ของไทยและเวียดนามเติบโตถึง 38.4% และ 36.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ E-Commerce ในรูปแบบ B2B ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมากในตลาดเวียดนาม ซึ่งจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า E-Commerce จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการค้าชายแดนให้เติบโตในอัตราที่เร็วขึ้น โดยท่ามกลางการเชื่อมโยงทางการค้าที่สูงขึ้นภายในภูมิภาค ไทยจะสามารถกอบโกยประโยชน์ได้มากสุดจากการเป็นศูนย์กลาง E-Commerce ของภูมิภาค ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ ไทยถือว่ามีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ส่งผลให้การค้าชายแดนผ่านทาง E-Commerce ของไทย มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าประเทศอื่นจะพยามเพิ่มศักยภาพทาง E-Commerce มากขึ้น kb09

โดยสรุป การค้าผ่านชายแดนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโอกาสทางการค้าในหลายด้าน เช่น โอกาสในการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังจีนและเวียดนามจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV นอกจากนี้ E-Commerce จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจในการค้าขายผ่านชายแดน จากศักยภาพในการเติบโตที่สูงมากในอนาคต ทั้งนี้ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งอาเซียนเป็นผู้ริเริ่มผลักดัน โดยมุ่งหมายจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนกับประเทศอื่นในภูมิภาคในวงกว้างมากขึ้น จะผลักดันบทบาทของการค้าชายแดนภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 090861-1927-9-335x503-8-335x503