เปิดโผ "สินค้าส่งออก" ติดลบ!! พิษสงครามการค้า "ตลาดสหรัฐฯ-จีน" ยังน่าห่วง - ขีดแข่งขันวูบ

28 ก.ย. 2561 | 04:28 น.
เปิดกลุ่มสินค้าส่งออกไป "สหรัฐฯ-จีน" ติดลบ ผลพวงสงครามการค้า ขาดแคลนวัตถุดิบ ขีดแข่งขันวูบ เอกชนลุ้นส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ปีนี้ยังโตได้ 7% และจีน 10% ระบุ ภาพรวมไทยได้รับอานิสงส์สงครามการค้าเชิงบวกมากกว่าลบ

แม้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกาและจีนช่วง 8 เดือนแรก จะยังขยายตัวเป็นบวก โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 18,293 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.5% ส่วนการส่งออกของไทยไปจีนมีมูลค่า 20,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.3% ซึ่งดูผิวเผินแล้วการส่งออกไทยไปยังทั้ง 2 ตลาด ดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แต่เมื่อพิจารณาในกลุ่มสินค้า 20 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนแล้ว พบมีหลายรายการส่งออกติดลบ ผลจากสงครามการค้าและจากปัจจัยอื่น ๆ


ส่งออก1

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แม้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ช่วง 8 เดือนแรก จะขยายตัว 5.5% แต่เมื่อย้อนกลับไปดูการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 2561 ที่ติดลบ 1.9% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 21 เดือน พบว่า มีหลายกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น สินค้าในกลุ่มเครื่องซักผ้าที่หดตัวกว่า 22% จากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีเครื่องซักผ้าจากทั่วโลก รวมถึงสินค้าอื่นในกลุ่มใกล้เคียงกัน อย่าง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์, โทรทัศน์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรสาร, โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่สหรัฐฯ มีการนําเข้าสินค้าชิ้นส่วนจากไทยไปผลิตส่งออก ซึ่งเข้าใจว่ามีการส่งออกไปจีนด้วย แต่เมื่อจีนมีการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ทำให้มีการลดการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบจากไทยด้วย

ในส่วนสินค้าอาหาร ไทยส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปสหรัฐฯ ได้ลดลง ส่วนหนึ่งจากมาตรการ IUU ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสับปะรดกระป๋องและแปรรูปลดลงตามราคาวัตถุดิบสับปะรดที่ลดลงกว่า 30% ในปีนี้ และสินค้ากุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ลดลงจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ขณะที่ ต้นทุนการผลิตสูงกว่าอินโดนีเซียและอินเดีย ทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศเหล่านี้ได้

"ส่วนการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 8 เดือนแรก แม้ภาพรวมจะขยายตัวเป็นบวก (+6.3%) แต่ก็มีหลายกลุ่มสินค้าที่ส่งออกติดลบ อาทิ ยางพารา ชิ้นส่วนรถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลจากจีนมีการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากไทยไปผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ และเมื่อสินค้าจีนถูกสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าระดับ 25% ทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐฯ และกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากไทยไปจีน"


TP8-3404-A

อย่างไรก็ดี จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกไปตลาดจีนปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 10% และตลาดอเมริกาเหนือ (ที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่สุด) ที่ 7% ส่วนตัวคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะส่วนใหญ่ผู้นำเข้าได้มีคำสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว ขณะที่ มีหลายกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน และส่งออกไปจีนทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ จากทั้ง 2 ฝ่าย ขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กัน

สอดคล้องกับผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปจีน (คิดเป็นสัดส่วนรวม 43% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปจีน) ช่วง 8 เดือนแรก ปี 2561 พบ 4 ใน 5 รายการ ยังขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ เม็ดพลาสติก (+21.3%) , ผลิตภัณฑ์ยาง (+6.3%) , เคมีภัณฑ์ (+54.7%) , เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+17.8%) และยาพารา (-31.8%)

ส่วนการส่งออก 5 อันดับแรกไทยไปสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ) ยังขยายตัวเป็นบวกทุกรายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+12.8%) , ผลิตภัณฑ์ยาง (+15.2%) , อัญมณีและเครื่องประดับ (+13.7%) , เครื่องนุ่งห่ม (+9.9%) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+30.5%)


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,404 วันที่ 27-29 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว