พาณิชย์กางแผนปฏิรูปการค้า ทุ่ม 880 ล้านดันขยายตัว / ชู CLMV เป้าหมายหลัก

12 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
พาณิชย์ทุ่มงบ 880 ล้านบาท ปฏิรูปการค้าโลกสู่การค้าโลก เน้นกลุ่ม CLMV เป็นหลัก มั่นใจเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน 15-25% ภายในปีนี้ กางแผนกิจกรรมเน้นเจาะลึกรายตลาด และรายเมืองที่มีศักยภาพ พัฒนาเอสเอ็มอีดันลงทุนต่างประเทศ ขณะตั้งเป้าดันการส่งออกธุรกิจบริการขยายตัว 10%

[caption id="attachment_30947" align="aligncenter" width="346"] อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิรดี ตันตราภรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[/caption]

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนงานผลักดันการค้าสู่การค้าโลก หรือGlobal Economy ภายใต้การปฏิรูปภาคการค้าไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้งบประมาณ 880 ล้านบาท(ได้รับอนุมัติจากครม.แล้ว) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยมีความตระหนักรู้ในการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและประกอบธุรกิจการค้าในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายมูลค่าการส่งออกสินค้าบริการเพิ่มขึ้น โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 36 เดือน ทั้งนี้มีเป้าหมายตลาดส่งออก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. การเจาะลึกในกลุ่มอาเซียน 2. การขยายตลาดไปยัง จีน อินเดีย รัสเซีย อิหร่าน 3. การเจาะตลาดผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และ 4.ตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง

ในรายละเอียดทางกระทรวงจะผลักดันแนวคิดสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการทั่วไป ทั้งภาคสินค้าและภาคบริการและภาครัฐภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยทุกระดับสู่ตลาดโลกในลักษณะเจาะลึก เป็นรายเมือง ด้วยการพัฒนาตลาด ทั้งในแบบตลาดการค้ารวมและช่องทางอี-คอมเมิร์ซ สำหรับกิจกรรมที่กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันจะมุ่งเน้นตลาดCLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะโฟกัสเป็นรายเมือง โดยจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในการเจาะตลาด 20 เมืองศักยภาพใน CLMV เช่น มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง มะริด ฮานอย โฮจิมินห์ ดานัง เสียมราฐ พนมเปญ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต จำปาสัก เป็น

ต่อมาคือโครงการกระชับความสัมพันธ์ การสร้างเครื่องข่ายระหว่างนักธุรกิจไทยกับกลุ่ม CLMV ผ่านโครงการซีแอลเอ็มวี เอ็กซ์คลูซีฟ และจับคู่ธรกิจในตลาด CLMV ใช้งบประมาณ10 ล้านบาท การผลักดันการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่นการพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้เชิงลึก เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน รวมไปถึงสนับสนุนผู้ประกอบการไปลงทุนและร่วมทุนกับธุรกิจท้องถิ่นในภูมิภาค เป็นต้น โดยกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าน่าจะทำให้การค้าของไทยกับกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้น15% และมีการลงทุนของไทยในตลาด CLMV เพิ่มขึ้น 20%

ส่วนการสร้างแบรนด์ของผู้ประกอบการ จะมีกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือกลุ่มรับจ้างผลิต(OEM) ประมาณ 1 พันราย กลุ่มท็อปไทยแบรนด์ในการให้ความรู้เชิงลึก การวางแผนการตลาดในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ 500 ราย กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองต่างๆ เช่น PM Award โดยจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแบรนด์และต้องการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแบรนด์ซึ่งมีประมาณ 100 ราย และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีแบรนด์แข็งแรงอยู่แล้ว(Global Brand) ที่ต้องการขยายออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ที่เข้มแข็ง เช่น ซีพี กะทิชาวเกาะ ทียูเอฟ ดั๊บเบิ้ลเอ เป็นต้น

"ส่วนการต่อยอดภายใต้การใช้อี-คอมเมิร์ซของประเทศจะใช้งบประมาณ 160 ล้านบาท ที่มีผู้ประกอบการทำการค้าออนไลน์กว่า 1 แสนราย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีการพัฒนาระบบไทยเทรด ดอทคอม เชื่อมต่อไปยังตลาดออนไลน์ระดับสากล"

ด้านธุรกิจบริการที่ปีนี้มีเป้าหมายจะช่วยผลักดันการส่งออกได้อีกทางหนึ่งนั้น กระทรวงจะมีการพัฒนา 6 กลุ่มธุรกิจบริหารเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจด้านสุขภาพ บันเทิงและคอนเทนต์ โลจิสติกส์ การศึกษา บริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และบริการวิชาชีพ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 160 ล้านบาท ซึ่งหากทำได้คาดว่าน่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกธุรกิจบริการของไทยขยายตัว 10% ในปีนี้ โดยรายละเอียดทั้งหมดจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559