กคช. แข่งแบงก์! ดันตั้งกองทุน ปล่อยกู้ดอกต่ำ

21 ส.ค. 2561 | 09:21 น.
210861-1606

บอร์ดที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ไฟเขียว! การเคหะฯ สวมบทแบงก์ ตั้งกองทุน 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ดอกต่ำบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ทั้งโครงการรัฐ-เอกชน ขณะค่าจดจำนองดูท่าทีมหาดไทย คาดเข้า ครม. ไม่เกินสิ้นปี ด้าน เอกชนขอขยายเป็นบ้าน 2 ล้านบาท ลงมา

นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า รัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ส่วนใหญ่ติดปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อ นอกจากแผนปรับลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองลงแล้ว ล่าสุด คณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ในฐานะกรรมการเห็นชอบให้ กคช. ตั้งกองทุนที่อยู่อาศัย วงเงิน 5,000 ล้านบาท เบื้องต้น จะของบจากรัฐบาลประเดิม 1,000 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_307794" align="aligncenter" width="377"] ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.)[/caption]

กองทุนจะปล่อยกู้ทั้งลูกบ้านการเคหะฯ และโครงการเอกชน บ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกิน 4% รวมทั้งเห็นชอบให้ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% เป็นการถาวร หลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ขัดข้อง ส่วนจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% ขอหารือกับกระทรวงมหาดไทย เจ้าของพื้นที่ก่อน คาดว่าจะเข้า ครม. เห็นชอบได้ราวปลายปีนี้

ขณะที่ เอกชนหนุนแผนลดค่าโอนและจดจำนอง โดยนายสมนึก ตัณฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังมีกลุ่มคนรายได้น้อยอีกมากที่ต้องการที่พักไม่เกินราคาดังกล่าว และเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับนายวิชัย จุฬาโอฬารกุล กรรมการบริหาร บริษัท ชินวะเรียลเอสเตท (ไทยแลนด์)ฯ บริษัทในเครือชินวะกรุ๊ป บอกว่า จะทำให้ต้นทุนผู้ซื้อลดลง ทำให้ตัดสินใจซื้อง่ายและเร็วขึ้น

 

[caption id="attachment_307798" align="aligncenter" width="335"] ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ด้าน นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เห็นว่า เป็นเรื่องดี แต่จะกระตุ้นได้ไม่มาก เพราะกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีน้อย ยิ่งใน กทม. แทบไม่มี เนื่องจากต้นทุนที่ดินแพง ตามแนวรถไฟฟ้าราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป หากขยายฐานเป็นกลุ่มราคาบ้านระดับ 2 ล้านบาทลงมา เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นได้มาก

เช่นเดียวกับ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ แม้ปรับลดค่าโอนก็ไม่ช่วย แต่จะเป็นโอกาสของนักลงทุนที่ซื้อคอนโดมิเนียม-บ้านถูก ทำเลใกล้มหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัด เพื่อให้เช่าที่มีผลตอบแทนแค่ 7-8%

 

[caption id="attachment_307799" align="aligncenter" width="372"] ชลัฐ ศิริพงศ์วุฒิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชลัฐ ศิริพงศ์วุฒิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ด้าน นายชลัฐ ศิริพงศ์วุฒิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองและโอนเหลือ 0.01% จาก 1% นั้น มองว่า หากเป็นมาตรการออกมาถาวร นับเป็นเรื่องที่ดี ที่สนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้เฉพาะบ้านใหม่ เพราะจะเป็นการไปช่วยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) แต่ควรให้บ้านมือสองด้วย ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเป็นบ้านหลังแรกเท่านั้น และควบคุมในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งจะถือว่ามาตรการดังกล่าวช่วยเหลือถูกกลุ่ม และไม่ใช้งบประมาณเพื่ออุ้มคนที่ไม่สมควรจะได้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19-22 ส.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กคช. ปลดล็อกร่วมทุน! ปรับสัญญาดึงเอกชนสร้าง "บ้านผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง"
กคช.ปฐมนิเทศผู้อยู่อาศัยอาคาร18 – 22 พร้อมจับสลากห้องพักแปลง G


e-book-1-503x62-7