โตโยต้าต่อยอดธุรกิจชุมชนพัฒน์ ผลักดันชุมชนสร้างอาชีพเข้มแข็ง

22 ส.ค. 2561 | 11:06 น.
หลังจากเริ่มแนวคิด “พี่เลี้ยงธุรกิจชุมชนไทย” ซึ่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่นำองค์ความรู้ในการทำธุรกิจของโตโยต้า ไม่ว่าจะเป็น วิถีโตโยต้า (Toyota Way) ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง (Customer First) ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการโอท็อปและเอสเอ็มอี

“สุรภูมิ อุดมวงศ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากแนวคิดที่เริ่มในปี 2555-2556 ด้วยการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีโตโยต้าในประเทศไทย ได้มีการคิดทบทวนความช่วยเหลือสังคมในประเทศไทยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนนสีขาว เมืองสีเขียว การบริจาคต่างๆ มีการศึกษาดูว่า      จะสามารถทำอะไรให้สังคมได้อีก และสิ่งที่โตโยต้าเห็นคือ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย จีดีพีกว่า 40% ขึ้นอยู่กับ       เอสเอ็มอี และโอท็อป ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้ยั่งยืน ขณะที่โตโยต้ามีความเชี่ยวชาญในสายการผลิต ที่เรียกว่า Toyota Production System จึงนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ เสริมศักยภาพการผลิต เพื่อทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

6 เยี่ยมชมโรงงาน1

หลักการแรกของการถ่ายทอดคือ ต้องทำให้ผู้ประกอบการ ในชุมชนเรียนรู้กระบวนการมองเห็นปัญหา รู้ปัญหา สามารถแก้ไขปัญหาได้ และที่สำคัญคือ ต้องสามารถปรับปรุงได้ด้วยตัวเอง หรือ Self-kaizen โดยโตโยต้าขยายขอบข่ายการให้ความช่วยเหลือไปเรื่อยๆ ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 12 จังหวัด และ 2 ใน 12 จังหวัด ได้จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกที่จังหวัดกาญจนบุรี และแห่งที่ 2 ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง ต.คอนฉิม อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น

090861-1927-9-335x503

สำหรับที่ขอนแก่น โตโยต้า เริ่มเข้ามาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยการช่วยเขาปรับปรุง หลังจากนั้นกลุ่มชุมชนวิสาหกิจบ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ ซึ่งสายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มฯ และสมาชิกช่วยกันปรับปรุงและต่อยอดเพิ่มอีก  20-30% รวมทั้งลดการสูญเสียอีกกว่าครึ่ง ขีดความสามารถในการปรับปรุงได้ด้วยตัวเองตรงนี้แหละ คือ หัวใจที่ โตโยต้าเข้ามาเปิดศูนย์การเรียนรู้ เราจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเขาระยะหนึ่ง

5 เรียนรู้การปรับปรุงธุรกิจ

ปัญหาที่พบในการดำเนินงาน ส่วนใหญ่คือเรื่องของความตั้งใจ และการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นเยอะ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะศูนย์การเรียนรู้ที่กาญจนบุรี ปัจจุบันสามารถขยายและส่งต่อความรู้ไปสู่ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาศึกษาดูงานต่อเนื่อง

สำหรับเป้าหมายต่อไป คือ การขยายการเรียนรู้ไปอีก 10 พื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งโตโยต้าร่วมมือ กับผู้แทนจำหน่ายในการคัดเลือก  และหากพื้นที่ไหนมีศักยภาพ จะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เช่นเดียวกับขอนแก่น และ กาญจนบุรี โดยเป้าหมายของโตโยต้าคือ การตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ได้ครบทุกจังหวัด โดยขณะนี้มีพื้นที่อยู่ในมือแล้ว 12 แห่ง และประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เหล่านี้ มีความพร้อมที่จะต่อยอดไปเป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มเติม อาทิ เชียงราย และนครราชสีมา และในอนาคตโตโยต้ามีแผนที่จะร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเร่งสปีดและขยายผลความช่วยเหลือต่อไป

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7