"พิษน้ำมัน-เรือล่ม-แผนดีเลย์" เซ่น 'นกแอร์' ขาดทุนบักโกรก

20 ส.ค. 2561 | 13:47 น.
200861-2037

ซีอีโอนกแอร์แจง 3 ปัจจัย "น้ำมัน-เรือล่ม-แผนบินดีเลย์" ต้นเหตุขาดสภาพคล่องหนัก ขาดทุนบักโกรก 6 พันล้าน บอร์ดวิ่งซบ 'จุฬางกูร' กู้ 1 พันล้าน แก้เงินช็อตระยะสั้น หวังต่อลมหายใจถึงไฮซีซัน

สายการบินนกแอร์เริ่มโคม่าอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาตัวเลขติดลบมาตลอดและผลประกอบการสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2561 พบว่า บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 406.10 ล้านบาท จากหนี้สินทั้งหมด 6.62 พันล้านบาท สูงกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ 6.21 พันล้านบาท และมีการขาดทุนสะสมถึง 6.19 พันล้านบาท ขณะที่ ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 2.27 พันล้านบาท ทั้งยังจะกู้ยืมเงินระยะสั้นจากกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มาเป็นทุนหมุนเวียน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย C กับนกแอร์ ไปก่อนหน้านั้นด้วย

 

[caption id="attachment_307540" align="aligncenter" width="335"] ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK[/caption]

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การขาดสภาพคล่องเป็นผลกระทบในช่วงสั้น ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ต้นทุนของราคาน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากระดับ 63.54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขยับมาอยู่ที่ 83.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

2.แผนการขยายเส้นทางบินใหม่ของนกแอร์ไปยังจีนและอินเดียล่าช้าไปจากเดิมที่วางไว้ เช่น การเปิดบินไปยังอินเดีย จากเดิมจะดำเนินการได้ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ล่าช้าไปเป็นช่วงเดือน ต.ค. นี้ ส่วนการขยายจุดบินจีนก็มีปัญหาเรื่องสล็อตบินที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทางจีน และปัจจัยที่ 3.เกิดจากผลกระทบจากเรือล่มที่ภูเก็ต ทำให้เกิดการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน ที่ผ่านมาต้องยกเลิกเที่ยวบินไปหลายเส้นทาง

อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าว นกแอร์ต้องกู้เงินจากตระกูลจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยบอร์ดนกแอร์อนุมัติกรอบวงเงินให้สามารถกู้เงินได้ 1,000 ล้านบาท เบื้องต้น ได้กู้ยืมก้อนแรกจาก นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งล่าสุด มีความจำเป็นต้องใช้เงินก่อน 490 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของนกแอร์ 245 ล้านบาท อีก 245 ล้านบาท จะนำมาใช้ในการขยายจุดบินใหม่ในญี่ปุ่นและการเปิดบินไปอินเดียของสายการบินนกสกู๊ต ซึ่งจะนำเรื่องเสนอผู้ถือหุ้นนกแอร์ในวันที่ 4 ต.ค. นี้ เพื่อขออนุมัติการนำเงินกู้ไปลงทุนเพิ่มในนกสกู๊ต


MP22-3313-1B

"สำหรับวงเงินอีก 500 ล้านบาท ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็กู้ได้ ซึ่งเป็นการสำรองไว้ก่อน และเรายังมองว่า ผลการดำเนินงานของนกแอร์ น่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นไฮซีซัน และการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดจุดบินใหม่ไปยังอินเดียเดือน ต.ค. นี้ และตลาดจีนน่าจะฟื้นตัวกลับมา"

ส่วนกรณี ตลท. ขึ้นเครื่องหมาย C นกแอร์ เนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว ทำให้นักลงทุนต้องวางเงินสดเต็มจำนวนในการส่งคำสั่งซื้อขายนั้น จะมีการจัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง (Public Presentation) เพื่อชี้แจงข้อมูลในวันที่ 21 ส.ค. นี้ ถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา

นายปิยะ กล่าวอีกว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นกแอร์มีรายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 7.67 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% มีปริมาณผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 13.22% ส่งผลให้อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่ 91.22% แสดงให้เห็นว่า แผนการดำเนินธุรกิจของนกแอร์เดินถูกทาง แต่ในช่วงไตรมาส 2 มีเรื่องต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้นกแอร์ รวมถึงทุกสายการบินต่างประสบปัญหาขาดทุนทุกสายการบินช่วงไตรมาสดังกล่าว


MP22-3340-1A

นอกจากนี้ นกแอร์ชี้แจงเรื่องของแผนการเพิ่มรายได้ โดยพบว่า ราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาด เพื่อรับมือกับต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น การเปิดตัวโปรดักต์ของนกแอร์ อย่าง Nok X-Tra และ Nok Max ที่สามารถสะสมไมล์รอยัลออร์คิด พลัสของการบินไทยได้ ทำให้นกแอร์จับลูกค้าตลาดบนได้สูงขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้ 'ไทยกรุ๊ป' ของการบินไทย ที่ก่อนหน้านั้นได้ทำเฮดจิ้งน้ำมันร่วมกับการบินไทยไปแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือถึงความร่วมมือเชิงพาณิชย์ เช่น การบินรหัสร่วม (โค้ดแชร์) การทำอินเตอร์ไลน์ ในการขายร่วมกัน รวมถึงยุทธศาสตร์เส้นทางบินของไทยกรุ๊ป ซึ่งมีการบินไทย นกแอร์ และไทยสมายล์ เพื่อให้เสริมซึ่งกันและกันในอนาคต

โดยที่ผ่านมา นกแอร์มีการระดมทุนมาแล้ว 3 ครั้ง และการบินไทยเคยปฏิเสธการเพิ่มทุน โดยให้เหตุผลว่า แผนฟื้นกิจการยังไม่ชัดเจน ส่วนเพิ่มทุนครั้งแรกวันที่ 29 พ.ค. 2560 เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม 510 ล้านหุ้น ราคา 2.40 บาทต่อหุ้น ได้เงิน 1.22 พันล้านบาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2560 เสนอขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม 1.13 พันล้านหุ้น ราคา 1.50 บาทต่อหุ้น ได้เงิน 1.70 พันล้านบาท และล่าสุดวันที่ 16 ส.ค. 2561 ได้เงินกู้จากนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร วงเงิน 1 พันล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19-22 ส.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
Q1นกแอร์ ขาดทุนเหลือ 26.88 ล้านบาท จากแผนฟื้นฟูธุรกิจที่เห็นผลอย่างมีนัยสำคัญ
นกแอร์บริการเช่าเหมาลำภาคเอกชนเปิดเส้นทางบินตรงดอนเมือง- เพชรบูรณ์


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7