ททท. ปรับเพิ่มเป้าท่องเที่ยวปี 62 โกยรายได้ 3.46 ล้านล้าน!

10 ก.ค. 2561 | 09:29 น.
ททท. ปรับเพิ่มเป้าหมายท่องเที่ยว ปี 62 จาก 3.41 ล้านล้านบาท เป็น 3.46 ล้านล้านบาท เติบโต 11.5% หลังถูกบอร์ดจี้ให้ดันการขยายตัวของตลาดต่างประเทศเพิ่มจาก 10% เป็น 12% มุ่งขับเคลื่อนท่องเที่ยว ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก




427055

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ในปีหน้า จะยังเน้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ และมองถึงการสร้างนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ และผู้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด ที่ต้องอาศัย "น้ำใจ" เพราะไม่ใช่ภารกิจหรือหน้าที่ แต่ใช้น้ำใจ ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ก็ต้องโฟกัสการท่องเที่ยวในเมืองรองและชุมชน เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ


427247

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เป้าหมายและทิศทางปี 2562 ตามแผนวิสาหกิจของ ททท. ได้กำหนดให้เป้าหมายรายได้ ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ 3.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% โดยรายได้การเติบโตของตลาดต่างประเทศ 2.34 ล้านล้านบาท เติบโต 12% และในประเทศ 1.12 ล้านล้านบาท เติบโต 10%

"เราปรับเป้าหมายในปี 2562 เพิ่มขึ้น จากเดิมก่อนหน้านี้วางไว้จะเติบโต 10% คือ มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ อยู่ที่ 3.41 ล้านล้านบาท แต่บอร์ด ททท. แนะว่า ปกติการขยายตัวของตลาดต่างชาติจะโต 12% ก็ให้คงการเติบโตไว้ และสิ้นปีนี้มีแนวโน้มว่าการท่องเที่ยวไทยน่าจะได้รายได้ตามเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาท ทำให้ ททท. มีการปรับฐานการเติบโตของตลาดต่างประเทศจาก 10% มาเป็น 12% ทำให้ภาพรวมของเป้าหมายการท่องเที่ยวปีหน้า จึงปรับเพิ่มจาก 10% มาเป็น 11.5%"

สิ่งที่เราจะเน้น คือ การกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรองและชุมชนมากขึ้น สอดคล้องกับรัฐบาล ที่คาดหวังใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระจายรายได้สู่จังหวัดที่ยังมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนต่ำกว่า 4 ล้านคน ขณะเดียวกัน การเข้าถึงชุมชนที่เปราะบางต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ และท้ายสุด ประชาชนต้องอยู่ดีมีสุข นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายในปีหน้า


427260

ททท. ได้สนองตอบนโยบายดังกล่าว โดยวางแผนการตลาดภายใต้บริบทและการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรปที่ยังอ่อนไหว อาจต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศที่เดินทางจากระยะใกล้ เพื่อลดความเสี่ยง การจำแนกกลุ่มลูกค้าแบบแยกย่อยอิงพฤติกรรมความต้องการตามกระแสนิยม ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัลที่ต้องปรับตัวอย่างมาก รวมถึงการรองรับ Big Data เพื่อการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดในการรักษาความเป็นผู้นำการตลาด


427245

สำหรับในปี 2562 ททท. ยังคงดำเนินการต่อยอดใน 3 จุด ได้แก่ 1.ใช้วิถีการกินนำไปสู่การสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น เดินหน้าตอกย้ำความเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่นเรื่องอาหาร ด้วย Michelin Guidebook 2019 เล่มที่ 2 กำหนดเปิดตัวในเดือน พ.ย. นี้ รวมถึงโครงการ Eat Thai, Visit Thai ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวโครงการ ณ กรุงลอนดอน

โดยแนวทางการทำงาน คือ การใช้ร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักรเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เผยแพร่อาหารไทยในแต่ละภูมิภาคไปยังเมืองใหม่ ๆ ของสหราชอาณาจักร พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการวัตถุดิบจากเมืองไทยมากขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Content ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น เช่น เนื้อหาในแอพพลิเคชัน "รู้ไทยให้ทึ่ง" ซึ่งรวมกูรูผู้รู้ด้านต่าง ๆ เล่าเกร็ดประเทศไทย ทั้งเชิงสังคม ศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาหาร เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้มัคคุเทศก์ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวไปยังนักท่องเที่ยวต่อไป

3.สร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยายผลจากกิจกรรมกำจัดขยะรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เพราะคำนึงว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นการเพิ่มจำนวนคนเข้าประเทศและเพิ่มโอกาสในการสร้างขยะ ซึ่งในปี 2561 ททท. จะเพิ่มความสำคัญเรื่อง CSR in Process โดยจะผนวกเข้าในระบบคิดของการทำงาน ทั้งงานภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เพื่อให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างครอบคลุมและรอบด้าน และ 4.เพิ่มเรื่องชูอัตลักษณ์เมืองรอง โดยสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวที่กระจายการเดินทางจากเมืองหลักสู่เมืองรอง ตามแนวคิด A B C ดังนี้

A - Additional คือ เส้นทางเมืองหลักเชื่อมเมืองรอง
B - Brand New คือ เมืองรองที่มีศักยภาพ
C - Combined คือ เส้นทางเมืองรองเชื่อมเมืองรอง


427248

ทั้งนี้ ในการประเมินศักยภาพชุมชน เป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเจ้าของแหล่ง เพื่อสอบทานความต้องการเชิงการตลาดกับความพร้อมและความสมัครใจของชุมชนเจ้าของแหล่ง นำมาสู่การคัดกรองชุมชนที่พร้อมรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวออกสู่ตลาด


427249

สำหรับตลาดเป้าหมายกลุ่มผู้สูงวัยและสตรี มีแนวโน้มการเติบโตสูงและมีกำลังซื้อ ส่วนกลุ่ม Gen Y หรือ กลุ่ม Millennial (17-36 ปี) ซึ่งมีความชัดเจนในวิธีคิด การใช้ชีวิต และบทบาทเด่นในการใช้โซเชียลมีเดีย สามารถช่วยสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน กลุ่มคนวัยทำงานตอบโจทย์วันธรรมดาน่าเที่ยว มีส่วนช่วยแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาห้องพักไม่เพียงพอ สำหรับกลุ่มประชุมสัมมนาท่องเที่ยวเป็นรางวัล จะช่วยเพิ่มการใช้ประโยชน์ของห้องพักได้มากขึ้นและจะผนวกกิจกรรมประเภท CSR ในชุมชนที่มีศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการประชุม เพื่อการกระจายรายได้สู่ชุมชน และสร้างความผูกพันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะนักท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชน

ส่วนแผนการทำตลาดในปีหน้า สำหรับตลาดต่างประเทศ ททท. จึงวางประเทศไทยเป็น "Weekend Destination" สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ซึ่งจะสนับสนุนการเพิ่มจำนวนคงามถี่ในการเดินทางของตลาดมากขึ้น และดำเนินการส่งเสริมการตลาดต่างประเทศภายใต้ 5 ทิศทางหลัก คือ GO High / Go for New Customer / GO LOCAL / Go Low Season และ Go Amazing Thailand : Open to the New Shades ซึ่งเป็น Working Concept โดยในปี 2562 จะนำเสนอ The Millions of Hidden  Shades เชิญชวนชาวต่างประเทศเดินทางมาสัมผัสเมืองไทยในหลายแง่มุมที่ยังซุกซ่อนอยู่ เพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก

ขณะที่ ทิศทางการส่งเสริมตลาดในประเทศ จะเน้นเรื่องการต่อยอดสร้างสรรค์ Content ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจที่ทำให้คนไทยรู้จักและรักเมืองไทยมากขึ้นไปกว่าเดิม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการท่องเที่ยวของประเทศ และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้จากการเพิ่มความถี่ในการเดินทางและค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันที่เพิ่มขึ้นด้วย


427023

ขณะเดียวกัน การสื่อสารภายในประเทศจะเน้นแคมเปญ "Amazing ไทยเท่" ที่จะทำให้คนไทยเห็นว่า การเที่ยวเมืองไทยเป็นเรื่องเท่ ด้วยการเที่ยวแบบลึกซึ้งและเข้าถึง โดยใช้ศักยภาพคนท้องถิ่นทั่วไทย จะขนามนามว่า Local Hero เป็นทั้งผู้ปกป้อง สืบสาน และถ่ายทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ธรรมชาติ ให้คงอยู่

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญเร่งด่วน คือ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่ง ททท. เองยังต้องแสวงหาโอกาสทางการตลาด พร้อม ๆ กับการแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม


427025


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครม.ไฟเขียวยกระดับสินค้าเกษตรระบบน้ำท่องเที่ยวเเละคุณภาพชีวิต
ปฏิญญา "ลดโลกเลอะ" ลดการใช้พาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว50%


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว