กสทช. ยันบีทีเอส สอบผ่าน ใช้งานได้ปกติ หลังนำทีมตรวจสอบการให้บริการ

02 ก.ค. 2561 | 02:15 น.
กสทช.  ยันบีทีเอสสอบผ่าน หลังเปลี่ยนอุปกรณ์ นำทีม บีทีเอส TOT และ DTAC ตรวจสอบการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนประชาชนใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าวันจันทร์ที่ 2 ก.ค. 61 Image_619e06c

วันนี้ (จันทร์ 2 ก.ค. 61) เวลา 05.50 น.  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับ กทม. บีทีเอส TOT และ DTAC ตรวจการให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส สายสีเขียว ก่อนประชาชนใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าวันจันทร์ หลังจากที่รถไฟฟ้า บีทีเอส ได้มีการแก้ไขปัญหาระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องตามแนวทางที่ได้ประชุมหารือร่วมกัน ด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณ  และได้รับความร่วมมือในการปิดเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 2300 MHz จาก TOT และ DTAC บริเวณสถานีใกล้เคียงตามแนวทางเดินรถไฟฟ้า   รวมถึงได้มีการขยับช่องสัญญาณความถี่จากเดิมไปใช้ช่วงความถี่ 2480-2495 MHz เพื่อให้ห่างจากคลื่น 2300 MHz ของ TOT

Image_77382b2        ขณะที่ในการตรวจสอบแบ่งเป็น 2 ช่องทาง คือ 1.ตรวจสอบการให้บริการของรถไฟฟ้า บีทีเอส สายสีเขียว โดยเริ่มใช้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส จากสถานีอารีย์ ในเวลา 06.00 น. สิ้นสุดที่สถานีพร้อมพงษ์ และขากลับเริ่มจากสถานี พร้อมพงษ์ สิ้นสุดที่สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ 2. สำนักงาน กสทช. ได้มีการส่งรถตรวจสอบสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ออกวิ่งตรวจสอบตามสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส สายสีเขียว คู่ขนานกันไป

คลิกเพื่อรับชมวิดีโอถ่ายทอดสด กสทช. ตรวจสอบระบบบีทีเอส

“ทั้งนี้ผลการตรวจตรวจสอบการให้บริการของรถไฟฟ้า บีทีเอส สายสีเขียว พบว่าเมื่อมีการปรับอุปกรณ์ในการใช้งานร่วมกัน รวมถึงปรับระยะห่างของการใช้คลื่นออกไป ในวันนี้ถือว่าบีทีเอสสอบผ่าน  ประชาชนสามารถใช้งานเพื่อโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ตามปกติ เนื่องจากเดิมบีทีเอสใช้งานระบบของโมโตโรล่า ซึ่งตอนนั้นทีโอทียังไม่ได้เปิดใช้งานคลื่น 2300 MHz จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนนี้เมื่อคลื่น 2300 MHz ได้มีการเปิดใช้งานแล้ว แต่ระบบของบีทีเอสยังไม่ได้มีการปรับปรุงการใช้งานร่วมกันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงต้องมีการปรับตัวในการใช้งานร่วมกัน ทั้งนี้จะเกี่ยวเนื่องไปถึงระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ในเรื่องของระบบป้องกันการรบกวนคลื่น 850 MHz โดยจะมีข้อกำหนดออกมาว่าผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับระบบการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ทั้งหมด  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้งาน” นายฐากร  กล่าว