อัพไซต์-เพิ่มพอร์ตสนามบิน! ดันโรดแมปคาร์โก องคาพยพใหม่ 'ทอท.'

05 ก.ค. 2561 | 11:13 น.
ปัจจุบัน ศักยภาพสนามบินทั้ง 6 แห่ง ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รองรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี แต่ด้วยการขยายตัวของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นปีละ 8-10% ทำให้แม้ ทอท. จะเร่งขยายสนามบินหลักต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารขึ้นมาเป็น 185 ล้านคน ในปี 2565 แต่กว่าจะเสร็จ ... หลายสนามบินก็คงดีมานด์ล้นศักยภาพที่ขยายไปแล้ว

นี่เอง จึงทำให้ ทอท. ปรับแผนลงทุนขยายศักยภาพสนามบินหลัก ควบคู่ไปกับการผลักดัน 2 องคาพยพใหม่ คือ การพัฒนารายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (คาร์โก) และการนำไอทีมาช่วยบริหารจัดการสนามบิน เพื่อลดความแออัดในการให้บริการ ระหว่างที่รอเวลาที่จะขยายสนามบินแล้วเสร็จ


589213226

จ่อร่วมทุน! ดันรายได้คาร์โก
ต่อเรื่องนี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ย้ำว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทอท. ได้ทำมาสเตอร์แพลนการขยายสนามบินต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแผนพัฒนาต่าง ๆ ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ 2 องคงพยพใหม่ที่จะเปลี่ยนโฉมการทำงานของ ทอท. คือ 1.การจัดทำมาสเตอร์แพลน เพื่อพัฒนาการให้บริการคาร์โกของสนามบินต่าง ๆ ของ ทอท. เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศและการค้าขายผ่าน อี-คอมเมิร์ซ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งยังต่อยอดการดำเนินธุรกิจจากการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่ง ทอท. จะตั้งเป็นบริษัทลูกและหาเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมลงทุนในสัดส่วน 51:49 เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง โดยเฉพาะการส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะไม่ต้องถูกตรวจซ้ำ หรือ ถูกปฏิเสธการนำเข้าจากประเทศปลายทาง โดยลูกค้านอกจากไทยแล้ว ก็มองกลุ่มประเทศ CLMV และยังได้ร่วมมือกับ Liege Airport ซึ่งเป็นสนามบินของเบลเยียม ที่ให้บริการด้านคาร์โกอันดับ 8 ของทวีปยุโรป ในการร่วมมือที่จะให้สนามบินนี้เป็นเกตเวย์นำสินค้า อี-คอมเมิร์ซ จากสุวรรณภูมิเข้ายุโรป โดยทั้งหมดเป็นการร่วมมือแบบจีทูจี


รุกดิจิตอลแพลตฟอร์ม
2.การจัดทำ AOT ดิจิตอลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างโลกเสมือนจริง เพื่อนำไอทีมาช่วยในการบริหารจัดการการให้บริการในสนามบิน เพื่อลดปัญหาความแออัดระหว่างรอการขยายสนามบินแล้วเสร็จตามแผน เช่น การทำให้ผู้โดยสารรู้ว่าจะจอดรถที่ไหนในสนามบิน เพื่อไม่ต้องเสียเวลาวนรถ การทำ AOT พอยต์ เพื่อแลกแต้มจากบัตรเครดิตเข้ามาเป็นแต้มของ ทอท. เช่น แลกแต้ม หรือ ส่วนลด เมื่อมาช็อปปิงรอเครื่องออก การใช้เลานจ์ในสนามบิน ซึ่งสายการบินก็จะตรวจสอบผู้โดยสารได้ว่าอยู่ที่ไหนจะได้ไปตามถูก ช่วยในการบริหารจัดการของสายการบินด้วย ลดปัญหาการดีเลย์ หรือ นำกระเป๋าที่โลหดออกจากเครื่องบิน หากผู้โดยสารไม่ได้อยู่ในพื้นที่แอร์ไซต์เมื่อถึงเวลาเดินทาง เป็นต้น


MP22-3379-A

เร่งขยาย-เพิ่มพอร์ตสนามบิน
ขณะที่ การปรับแผนขยายศักยภาพสนามบินหลัก อย่าง สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต ก็ได้ดึงเอาโครงการที่บรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสารออกมาทำก่อน เพื่อลดความแออัดของสนามบิน การวางแผนลงทุนสร้าง 2 สนามบินใหม่ ที่ ต.โคกกลอย จ.พังงา และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน สำหรับรองรับเที่ยวบินในประเทศภายใต้ศักยภาพการรองรับสนามบินละ 10 ล้านคนต่อปี ลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท ไม่รวมที่ดิน

พร้อมรอรับ 4 สนามบิน (อุดรธานี, ชุมพร, สกลนคร, ตาก) ของกรมท่าอากาศยาน เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. หากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ที่เบื้องต้น ทอท. จะใช้งบลงทุน 1.5 พันล้านบาท ในด้านอุปกรณ์การให้บริการของสนามบินอุดรธานีให้ได้มาตรฐานในการให้บริการเที่ยวบินระยะไกล รวมการลงทุนทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทอท. จะใช้งบลงทุนกว่า 3.46 แสนล้านบาท

มาสเตอร์แพลน์การขยายสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการการ ลงทุนกว่าครึ่งจะเป็นการขยาย 'สนามบินสุวรรณภูมิ' 1.3 แสนล้านบาท ทั้งโครงการขยายเฟส 2 ที่จะมีอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 รับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 15 ล้านคน จะแล้วเสร็จปี 2563 ส่วนรันเวย์ 3 การลงทุนกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท จะเห็นในปี 2564 และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ต้องรอการเห็นชอบจาก ครม. ก่อนที่ ทอท. จะลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท รับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 30 ล้านคน ซึ่ง ทอท. หวังจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ดังนั้น ในอีก 5 ปีจากนี้ สนามบินสุวรรณภูมิจะรับผู้โดยสารได้รวม 90 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากศักยภาพปัจจุบัน ที่รองรับได้ 45 ล้านคน


ผุดกรุ๊ปเช็กอินดอนเมือง
ขณะที่ การขยายศักยภาพ 'สนามบินดอนเมือง' ที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นสนามบินโลว์คอสต์ที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดในโลก มีการเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศโต 25-26% ทำให้ ทอท. เร่งดึงงานด้านเซอร์วิสมาทำก่อน โดยอยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างอาคารกรุ๊ปเช็กอิน บริเวณลานจอดรถของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) คาดว่าจะเสร็จรับปีใหม่ หรือ ตรุษจีน เพื่อลดความหนาแน่นการใช้บริการในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 ทั้งยังจะมีการไล่ทุบอาคารโดเมสติกเดิมช่วงต้นปีหน้า เพื่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่และจังก์ชันเทอร์มินัล เชื่อมต่อการเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ามายังสนามบิน


ขยายภูเก็ตรับ 18 ล้านคน
ส่วนสนามบินภูเก็ต ล่าสุด ได้เปิดใช้อาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่ปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จ ทำให้รับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี แต่จริง ๆ สนามบินมีผู้โดยสารใช้บริการแล้วถึง 16.2 ล้านคน เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ ทอท. ต้องเร่งขยายสนามบินระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อขยายการรองรับเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งก็ถือว่าขยายได้เต็มศักยภาพแล้ว ทำให้ ทอท. จึงตัดสินใจในการวางแผนสร้างสนามบินพังงา โดยอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตราว 20 กิโลเมตร เพื่อดึงผู้โดยสารภายในประเทศมาใช้บริการที่สนามบินใหม่ดังกล่าว

ดังนั้น ในช่วง 5 ปีนี้ ไม่เพียงเราจะเห็นสเกลของสนามบินที่ใหญ่ขึ้น ยังจะเห็นฝั่งการเติบโตของคาร์โก ที่จะเติบโตอย่างจริงจังเสียที


……………….
รายงานพิเศษ เซกชัน : ท่องเที่ยว โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,379 วันที่ 1-4 ก.ค. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทอท.จัดประชุมAOT Sister Airport CEO Forum 2018ธีมพัฒนาอินโวชั่นในสนามบิน
ประวัติศาสตร์รับเหมาไทย! "31 ขาใหญ่" โดดชิงเค้กรถไฟฟ้า 3 สนามบิน

 

e-book-1-503x62