พาณิชย์ลงพท.ดันขยายตลาดชาและผลิตภัณฑ์สู่สากลจากการลดภาษี FTA

25 มิ.ย. 2561 | 10:49 น.
พาณิชย์ ลงพื้นที่ผลักดันเกษตรกรขยายตลาดชาและผลิตภัณฑ์สู่สากลจากการลดภาษี FTA แนะทิศทางการค้าชาโดยใช้ประโยชน์จาก FTA เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และติดตามความพร้อมรับมือการค้าเสรี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชา ระหว่างวันที่ 28 – 29 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อหารือเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจชา ถึงช่องทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งติดตามการปรับตัวและการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี FTA ที่ผ่านมา และเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีสินค้าชาภายใต้ FTA ที่จะเกิดขึ้น

ormon

ทั้งนี้ในปี 2560 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 73,211 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 8% แบ่งเป็น ชาอัสสัม 64,749 ตัน คิดเป็น 88 % ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 8,462 ตัน คิดเป็น 12% ทั้งนี้ ในปีเดียวกันนี้ไทยยังมีการนำเข้าใบชา 9,237 ตัน จากประเทศจีน 45% เวียดนาม 22 % เมียนมา 15% และอินโดนีเซีย 11% ซึ่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยไม่ได้เปิดตลาดสินค้าใบชาให้กับจีน โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าชาจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิก WTO คือ อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 ซึ่งมีปริมาณเปิดตลาดปีละ 625 ตัน เมื่อครบปริมาณแล้วจะต้องเสียภาษีนอกโควตาร้อยละ 90 สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ชา ไทยได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงดังกล่าวแล้ว ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการยกเว้นอากรสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้แก่กันแล้ว ยกเว้นเมียนมาที่ยังมีการเก็บภาษีสินค้าชาบางชนิดอยู่ที่ร้อยละ 5

ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในผลิตภัณฑ์ชา โดยในปี 2560 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก (ตามปริมาณ) รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน โดยส่งออกเป็นปริมาณ 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท ไปยังเมียนมา 46% สหรัฐฯ 27 % และลาว 7 % ขณะเดียวกันไทยมีแนวโน้มส่งออกใบชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 ไทยส่งออกใบชาเพิ่มขึ้นจากปี 2559 49% โดยส่งออกเป็นปริมาณ 2,710 ตัน คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท ไปยังอินโดนีเซีย 25% กัมพูชา 19% และจีน 18% ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าวได้ โดยได้รับการยกเว้นการเสียภาษีนำเข้าภายใต้ FTA ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ชาแต่ไม่มีการจัดทำ FTA ด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย กรมจึงให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ และติดตามความพร้อมเกษตรกรและผู้ผลิตชาและผลิตภัณฑ์ของไทย ในการเปิดตลาดภายใต้ FTA ต่างๆ จึงมีลงพื้นที่ในวันที่ 28 มิถุนายน ณ โรงงานและไร่ชาในพื้นที่ตำบลแม่สลองนอก ตำบลแม่สลองใน และตำบลเทิดไทย จังหวัดเชียงราย รวมทั้งการจัดสัมมนาติดตามความพร้อมแสวงหาประโยชน์และรับมือการค้าเสรีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมชาตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ปลูกชา โรงงานชา ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ส่วนการใช้ประโยชน์และรับมือกับความตกลง FTA ที่ผ่านมา และการเตรียมการรับมือกับความตกลง FTA ไทย – ออสเตรเลีย ที่จะเปิดเสรีชาให้กับออสเตรเลีย ในปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผลกระทบกับผู้ผลิตชาในประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศที่ผลิตและส่งออกชามากนัก”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่า พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรจากหลายภาคส่วนร่วมบรรยายแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ด้วย อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิชาการเกษตร สถาบันชา สหกรณ์จังหวัดเชียงราย และภาคเอกชนในพื้นที่

e-book-1-503x62