ดึง 400 ทุนใหญ่ มาร์เก็ตซาวดิ้ง 'อู่ตะเภา' 2 แสนล้าน

17 มิ.ย. 2561 | 09:48 น.
กองทัพเรือระดมบิ๊กทุนโลกกว่า 400 ราย ทำมาร์เก็ตซาวด์ หนุนลงทุนพีพีพีอู่ตะเภาเฟส 2 มูลค่า 2 แสนล้านบาท เผย ดีเอชแอล , เคอรี่ , แอร์เอเชีย , ชาร์ลเดอโกล , เอจีพีกรุ๊ป ญี่ปุ่น โดดร่วมคึก

แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพเรือ (ทร.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ในวันที่ 15 มิ.ย. กองทัพเรือจะมีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนจากทั่วโลก (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) เพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ในพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ภายในสนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล (อีอีซี) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเช่าที่ดิน 30-50 ปี (ขึ้นกับผลการศึกษา)

 

[caption id="attachment_290533" align="aligncenter" width="503"] ©eeco.or.th ©eeco.or.th[/caption]

โดยรายละเอียดของโครงการประกอบด้วย โครงการอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 , ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) , ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Air Cargo) ระยะที่ 2 , กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน (Free Trade Zone) , ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน (Maintenance Repair and Overhaul , MRO) ระยะที่ 2 และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ระยะที่ 2 รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท สำหรับเงื่อนไขการลงทุนจะเป็นไปในลักษณะคอนซอร์เดียมตามกฎหมายไทย โดยต้องมีคนไทยถือหุ้น 51% ต่างชาติ 49% และคาดว่าน่าจะคลอดทีโออาร์เปิดประมูลได้ในเดือน ต.ค. นี้

ทั้งนี้ จะมีการเชิญผู้สนใจลงทุนในด้านดังกล่าวจากทั่วโลกเข้าร่วมฟังความคิดเห็น อาทิ สถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถานทูตของประเทศต่าง ๆ โดยกลุ่มทุนที่สนใจ มีทั้งทุนจากจีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เอเชีย เช่น ดีเอชแอล , เคอรี่ , แอร์เอเชีย , โบอิ้ง , เอจีพีกรุ๊ป จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบริหารภาคพื้นสนามบินในญี่ปุ่น , สนามบินชาร์ลเดอโกลของฝรั่งเศส เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเข้าร่วมราวกว่า 400 ราย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีการเดินทางไปทำโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกไปแล้ว


TP11-3280-AB

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบพีพีพี ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) เฟส 2 ที่จะเกิดขึ้น มีนักลงทุนหลายกลุ่มแสดงความสนใจ หลังจากเอ็มอาร์โอเฟสแรกที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ มีการบินไทยและแอร์บัสได้นำร่องเตรียมลงทุน โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ 200 ไร่

ส่วนพื้นที่เอ็มอาร์โอ เฟส 2 คาดว่าจะมีพื้นที่อีกกว่า 370 ไร่ ซึ่งเบื้องต้น การบินไทยและแอร์บัสก็ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนต่อเนื่องด้วย ขณะเดียวกัน ทางแอร์เอเชียและโบอิ้งต่างก็สนใจที่จะเข้าร่วมแข่งขันด้วย โดยเงื่อนไขการเช่าพื้นที่ ผู้เช่าต้องจ่ายผลตอบแทนให้กองทัพเรือ ตามผลการศึกษาที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอ ส่วนโครงสร้างการบริหาร กองทัพเรือจะทำหน้าที่เป็นซุปเปอร์บอร์ดในการบริหารจัดการ ส่วนนักลงทุนรายใดประมูลได้ก็ดำเนินการบริหารจัดการกันไปโดยอิสระ


appMP26-3059-A

ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา 1 ล้านคนต่อปี ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่จะเปิดเต็มรูปแบบได้ในเดือน ม.ค. ปีหน้า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่า ภายใน 4-5 ปี อาคารนี้ก็เต็มศักยภาพ จึงจำเป็นจะต้องเปิดประมูลอาคารหลังที่ 3 เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งกำลังศึกษาเพื่อขยายการรองรับให้ได้ตั้งแต่ 15 ล้านคน 30 ล้านคน ไปจนถึง 50 ล้านคน ซึ่งจะแบ่งการลงทุนออกเป็นเฟส ๆ โดยใครชนะการประมูลอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 , ศูนย์การค้า , ธุรกิจ , แอร์คาร์โก และคาร์โก้ฟรีโซน ก็มีสิทธิที่จะมาบริหารสนามบิน โดยมีทางกองทัพเรือนั่งเป็นซุปเปอร์บอร์ดคุมการบริหารในภาพใหญ่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอการศึกษาแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภา ที่จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี ก็จะสามารถปักหมุดได้ชัดเจนว่า ส่วนที่จะเปิดให้เอกชนมาทำพีพีพีจะมีแปลงใดบ้าง


tp11-3374-a

ส่วนการพัฒนาการลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรันเวย์ 2 และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับโครงการลงทุนเร่งด่วนที่รัฐบาลจะให้การบินไทยเป็นแกนนำ ในการลงทุน MRO เฟสแรก ร่วมกับแอร์บัส การก่อสร้างแอร์คาร์โก เฟสแรก ของการบินไทย และโครงการเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ที่จะดำเนินการโดยสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,374 วันที่ 14-16 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ทีจี- แอร์บัส' ผนึกร่วมทุน! เดินหน้าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เฉียด 4 พันล้าน
เปิดแผนสนามบินอู่ตะเภา รับฟังความเห็นเอกชน มุ่งยกระดับสู่ศูนย์กลางการบินภูมิภาค


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว