'ทีจี- แอร์บัส' ผนึกร่วมทุน! เดินหน้าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เฉียด 4 พันล้าน

16 มิ.ย. 2561 | 16:18 น.
160661-2307

'ทีจี-แอร์บัส' เดินหน้าร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ... 'ประยุทธ์' ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามร่วมทุน 25 มิ.ย. นี้ ที่ฝรั่งเศส คาดใช้เงินลงทุนระยะแรก 3.97 พันล้านบาท ขณะที่ ภาครัฐลงทุน 6.33 พันล้านบาท ก่อสร้างอาคารให้ ยัน! ผลตอบแทน 14% คืนทุนภายใน 9 ปี

ถือเป็นความคืบหน้าอีกระดับหนึ่ง สำหรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพราะ 1 ในโครงการสำหรับเร่งด่วน อย่าง 'โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา' (MRO) จะมีการลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีจี และบริษัท แอร์บัสฯ ในวันที่ 25 มิ.ย. 2561 นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ประเทศฝรั่งเศส

 

[caption id="attachment_290533" align="aligncenter" width="503"] ©eeco.or.th ©eeco.or.th[/caption]

ในขณะที่ กระบวนการคัดเลือกเอกชนตาม PPP EEC Track จะใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยการไม่ประมูล แต่จะมีการออกทีโออาร์ให้ครบตามกระบวนการได้ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ และเริ่มก่อสร้างภายในปลายปี 2561


tp11-3374-a



แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า สำหรับโครงการนี้ถือเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยจะประกอบด้วย 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy Maintenance) , ธุรกิจซ่อมบำรุงระดับลานจอด (Line Maintenance) และธุรกิจซ่อมทาสีเครื่องบิน (Aircraft Painting)

โดยในการร่วมลงทุนดังกล่าว ทางทีจีและแอร์บัสได้สรุปผลการศึกษาออกมาที่จะดำเนินการในธุรกิจซ่อมใหญ่ (Heavy Maintenance) แล้วจึงเสริมด้วย 5 กิจกรรมรอง และในอนาคตจะมีกิจกรรมเพิ่มอีก 5 กิจกรรม ซึ่งผู้ประกอบการรายอื่น ๆ สามารถเข้ามาลงทุนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เช่น Airport Ground Power (AGP) และจะมีเอกชนรายย่อยที่เป็นซัพพลายเออร์เข้ามาด้วย

 

[caption id="attachment_290535" align="aligncenter" width="503"] ©eeco.or.th ©eeco.or.th[/caption]

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุน ทางทีจีและแอร์บัสจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,977 ล้านบาท เพื่อจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เท่านั้น ขณะที่ ภาครัฐจะเป็นผู้ก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมและอาคารประกอบทั้งหมด เงินลงทุนประมาณ 6,333 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวมีอัตราผลตอบแทนที่ 14% ระยะเวลาคืนทุน 9 ปี โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการในเดือน ก.ค. 2565

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โครงการนี้จะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปลายปี 2561 ซึ่งจะช่วยให้การรื้อย้ายศูนย์ซ่อมเดิมและส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 ได้ ภายในปลายปี 2563 สามารถร่นระยะเวลาการเปิดให้บริการลงมาเป็นปี 2564 ทำให้ไม่กระทบกับแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการซ่อมอากาศยานของการบินไทยไม่มาก โดยขณะนี้ การบินไทยได้รับมอบเครื่องบินยุคใหม่ (New Generation Aircraft) เข้ามาแล้วประมาณ 20 ลำ ซึ่งต้องการเทคโนโลยีของศูนย์ซ่อมแห่งใหม่ในการซ่อมบำรุง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,374 วันที่ 14-16 มิ.ย. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
การบินไทยร่วม MOU กับแอร์บัสศึกษาการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก


e-book-1-503x62-7