รัฐตอบกระทู้ สนช. ยัน! เร่งโรดแมปแก้ 'อ้อย' ทั้งระบบ

26 พ.ค. 2561 | 11:06 น.
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561 - ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง : นโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ หลังอุตสาหกรรมอ้อยของไทยยังมีปัญหา ทั้งด้านการพัฒนาปัจจัยการผลิตและการบริหารจัดการ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงและประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอถามไปยังรัฐบาลว่า "รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเครื่องจักรตัดอ้อย (รถตัดอ้อย) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เพื่อแก้ปัญหามลภาวะ (มลพิษ) จากการเผาอ้อยหรือไม่? เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจำเป็นต้องเผาอ้อยในทุกฤดูกาลหีบอ้อย เพราะหากไม่เผาอ้อย จะไม่มีแรงงานตัดอ้อย และรัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกอ้อยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ร่วมใช้ถนน และสร้างความเสียหายต่อพื้นผิวถนนหรือไม่? รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยหรือไม่? อย่างไร? ตลอดจนมีแนวทาง หรือ วิธีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในการใช้พื้นที่ปลูกเท่าเดิม หรือ น้อยกว่าเดิม แต่มีผลผลิตเท่าเดิม หรือ มากขึ้นกว่าเดิม หรือไม่? อย่างไร?"


org_4537656744

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2553-2560 รัฐบาลได้อนุมัติสินเชื่อสำหรับซื้อรถตัดอ้อยแล้ว จำนวน 745 คัน ทำให้ขณะนี้ ทั้งประเทศมีรถตัดอ้อยรวมเกือบ 2,000 คัน มีประสิทธิภาพตัดอ้อยได้วันละกว่า 6.6 แสนตัน เมื่อเทียบกับปริมาณผลิตอ้อยทั่วประเทศ แต่เนื่องจากผู้ประกอบการรถตัดอ้อยในประเทศมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ รัฐบาลจึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ในการตัดอ้อยแปลงใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ปีละอย่างน้อย 100 ราย ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ภายในปี 2563

ขณะที่ มาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกอ้อยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโรดแมปแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยต้องมีการรวมแปลง รวมกลุ่มเกษตรกร ออกแบบแปลงและวิธีการปลูกอ้อยใหม่ ให้สะดวกต่อการใช้รถตัดอ้อย

ขณะที่ การขนส่งอ้อยจะต้องไม่เกินรัศมี 25 กิโลเมตร เพื่อลดค่าขนส่ง พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในการแก้ปัญหาภัยแล้งและซื้อเครื่องจักรการเกษตร ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินการอนุมัติวงเงินปีละ 3 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้มีการจัดทำคิวรับขนส่งอ้อย เพื่อลดระยะเวลาการจอดรอขนส่งอ้อยริมถนน ให้แล้วเสร็จภายใน 12-24 ชั่วโมง และจัดตั้งลานรับอ้อยจากรายย่อย ลดปัญหาการใช้รถบรรทุกอ้อยขนาดเล็กบนท้องถนน พร้อมให้แต่ละโรงงานจัดทำพื้นที่ให้รถบรรทุกจอดรอภายในโรงงาน ป้องกันอุบัติเหตุให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการปรับลดน้ำหนักบรรทุกและความสูง จำกัดความเร็ว ป้องกันอ้อยตกหล่น และทุกสมาคมต้องจัดรถบริการเก็บอ้อยกรณีเกิดการตกหล่นด้วย พร้อมทั้งรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง สอน., โรงงานน้ำตาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรด้วย ส่วนการเพิ่มผลผลิตอ้อยนั้น ขณะนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการแจกต้นกล้าอ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรฯ พร้อมทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาพันธุ์อ้อยดี ว่า อ้อยแต่ละชนิดเหมาะปลูกในพื้นที่ใด ทั้งนี้ เพื่อให้ผลผลิตอ้อยมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการเพิ่มผลผลิตอ้อยอีกทางหนึ่ง


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ชาวไร่อ้อยเฮ! ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 1,083 บาท
KTISเผยผลิตน้ำตาลทะลุพันล้านกก.ชี้ปริมาณอ้อยพุ่งส่งผลรายได้ขายไฟเพิ่ม


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว