ป.ป.ท.-พส.วางแนวทาง ป้องกันทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง

22 มี.ค. 2561 | 14:38 น.
- 22 มี.ค. 61 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประชุมร่วมกับพ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการป.ป.ท.เพื่อประสานข้อมูลการตรวจสอบทุจริตจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้ยากไร้และบุคคลไร้ที่พึ่ง รวมถึงวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในปีงบประมาณ2561 ซ้ำรอยปีงบประมาณ 2560

นางนภา กล่าวหลังการประชุมว่า ในการตรวจสอบป.ป.ท.เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ ส่วนกรมพัฒนาสังคมฯให้ความร่วมมือในการจัดส่งเอกสาร ซึ่งวันนี้ได้หารือกันถึงจุดอ่อน จุดเสี่ยง เพื่อป้องกันปัญหา แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด ภาพรวมคือการทุจริตทั่วไป แต่ในเชิงลึกได้วางแนวทางได้แก้ไขวิธีการจ่ายเงิน โดยการโอนเข้าบัญชีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีเปย์เม้นท์) หรือพร้อมเพย์แม้จะมีข้อจำกัดชาวบ้านในพื้นที่อยู่ห่างไกล แต่ปัจจุบันระบบอีเปย์เม้นท์เข้าถึงพื้นที่มากพอสมควร ส่วนกรณีเกิดภัยพิบัติเร่งด่วนที่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินสด ต้องมีบันทึกหลักฐานจ่ายเงินให้ชัดเจนและมีการบันทึกภาพ เพื่อยืนยันว่ามีการจ่ายเงินจริง นอกจากนี้ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นปัญหาที่ผอ.ศูนย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยากไร้ที่ควรได้รับการสงเคราะห์ จึงมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นพิจารณาคุณสมบัติ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการตรวจสอบพบทุจริตหลายจังหวัด หากต้องย้ายผอ.ศูนย์ฯทั้งหมด จะบริหารงานอย่างไร นางนภา กล่าวว่า ในกรณีผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งถูกย้าย จะให้ผู้ช่วยหรือผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาปฏิบัติงานแทนชั่วคราว ซึ่งจะไม่กระทบต่อการทำงานของกรมส่วนกรณีล่าสุดที่พบการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงได้มีคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตเข้ามาประจำกรม เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสอบวินัยร้ายแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าเขตมีความผิดแล้ว หลังสรุปผลสอบหากพบว่ามีความผิดวินัยจริงก็ต้องลงโทษตามลำดับโทษ

นางนภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการเบิกจ่ายงบช่วยเหลือ กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสุ่มตรวจเอกสารฎีกาเบิกจ่าย และสัมภาษณ์ชาวบ้านแต่เอกสารถูกต้องทั้งหมดไม่พบการทุจริต เพราะการดำเนินการอยู่ในอำนาจของพื้นที่ คนจากส่วนกลางไม่ทราบข้อเท็จจริงมากไปกว่าคนในพื้นที่ ที่สำคัญการช่วยเหลือของรัฐไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะเงินอุดหนุนอย่างเดียว แต่ยังมีการส่งเสริมอาชีพ หรือการรักษาพยาบาล โดยการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์เป็นเพียงปัจจัยเดียว จนกระทั่งป.ป.ท.ลงตรวจสอบทุจริต ซึ่งกรมพัฒนาสังคมฯต้องรอป.ป.ท.ตรวจสอบให้เสร็จสิ้น จึงจะทราบว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากจุดใดบ้าง

"สำหรับชาวบ้านที่เป็นผู้มีสิทธิ์ควรได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ไม่เคยได้รับเงินเลย จะต้องรอให้การตรวจสอบทุจริตเสร็จสิ้นก่อน จากนั้นกรมจะเข้าไปดูอีกครั้งว่ายังจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์อย่างไร ในจุดนี้ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป" นางนภา กล่าว