ต้าน คสช. อุ้ม 'AIS-ทรู'! นักวิชาการแฉ ม.44 ยืดค่างวดให้นายทุน รัฐสูญ 3 หมื่นล้าน

21 มีนาคม 2561
210361-1553

ประธานทีดีอาร์ไอ-นักวิชาการโทรคมนาคม รวมพลังค้าน กสทช.-คสช. ใช้มาตรา 44 ‘อุ้ม AIS-TRUE’ ยืดจ่ายค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 5 ปี หวั่นรัฐสูญเสียส่วนต่างดอกเบี้ย 3 หมื่นล้าน เตือน! ระวังซ้ำรอยออก พ.ร.ก. แปลงสัมปทานมือถือ ‘ดีแทค’ ได้ทีขอเลียนแบบ

มาตรการช่วยเหลือ 2 ค่ายมือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ ‘เอไอเอส’ และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือ ‘ทรู’ ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในราคา 75,657 ล้านบาท และ 76,298 ล้านบาท (ตามลำดับ) ให้ยืดชำระค่าประมูลคลื่นออกไปอีกจำนวน 5 งวด กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น

 

[caption id="attachment_270428" align="aligncenter" width="299"] สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ[/caption]

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 มายืดชำระค่าประมูลคลื่นออกไปอีก 5 งวด เพราะผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ไปประมูลคลื่นเคาะราคาด้วยตัวเอง และรู้ว่า การจ่ายค่าใบอนุญาตสุดท้ายในปี 2563 ดังนั้น การทยอยจ่ายออกไปอีก 5 ปี จึงเป็นการยกประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทั้งสอง

“แม้จะมีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายนั้นต่ำมาก คือ 1.5% ต่อปี ทั้งที่ตามเงื่อนไขการประมูล การจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้เองที่เป็นประโยชน์มากมายมหาศาลสูงถึงรายละ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาท จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดลด (Discount rate)” นายสมเกียรติ กล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

คสช. ไม่มีเหตุ ‘อุ้ม’
ประธานทีดีอาร์ไอยังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Somkiat Tangkitvanic’ ระบุตอนหนึ่งว่า “ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลย ที่ คสช. จะต้องเข้ามา ‘อุ้ม’ ผู้ประกอบการทั้ง 2 แถมจะดำเนินการล่วงหน้า 2 ปี ก่อนถึงปี 2563 ก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 อันที่จริง ระยะเวลาในการผ่อนชำระค่าประมูลของ กสทช. นั้น ถือได้ว่าไม่เข้มงวด แตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่โดยทั่วไปในต่างประเทศและการประมูลคลื่น 3 จี ที่ผ่านมาในประเทศไทยเอง ที่ให้จ่ายค่าประมูลเกือบหมดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ

หาก คสช. จะมีมติยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ตามที่เป็นข่าวจริง ก็คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า แม้ว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธ์จะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ 1 เพราะไม่ได้มีคณะรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยนายทุนโทรคมนาคมและนายทุนโทรทัศน์ จนเป็นที่มาของการเกิด ‘คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย’ แต่นโยบาย ‘อุ้ม’ นายทุนโทรคมนาคมก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย


appmp24-3160-a

“ความแตกต่างเล็ก ๆ หากจะมีก็คือ รัฐบาลทักษิณออกพระราชกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อผู้ประกอบการโทรคมนาคมในสมัยนั้น โดยแอบ ‘ซุก’ ไปกับภาษีสรรพสามิตบริการอื่น ๆ เช่น สนามกอล์ฟ ในขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน กำลังจะอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมโดย ‘ซุก’ ไปกับการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล” นายสมเกียรติ ระบุ

ห่วงสร้างบรรทัดฐานใหม่
ขณะที่ นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณี มีข้อสังเกตและไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการประมูลใบอนุญาตต่าง ๆ ในอนาคต ที่ฝ่ายรัฐหรือองค์กรกำกับดูแลกำหนดเกณฑ์การประมูลและชำระค่าประมูลเป็นงวด ๆ ซึ่งเป็นที่รับทราบไว้แล้ว ต่อมาสามารถต่อรองหรือขอให้ยืดระยะเวลาหรือซอยการแบ่งชำระค่าประมูลได้อีก มองอีกมุมอาจไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าประมูลรายอื่น ๆ หรือมิฉะนั้น ก็จะเกิดกติกาที่รู้กัน แบบประมูลไปก่อนด้วยราคาสูง ๆ ให้ได้ใบอนุญาต จากนั้นค่อยมาเจรจาขอยืด ขอยังไม่ชำระ หรือแย่สุด คือ ขอให้ยกค่าประมูลฟรีส่วนที่เหลือทั้งหมดไปเลย ขึ้นอยู่กับการต่อรองเป็นราย ๆ หรือรวมกลุ่มมาต่อรองกับภาครัฐ ซึ่งไม่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ขณะที่ รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ควรช่วยทีวีดิจิตอล แต่ไม่ควรใช้มาตรา 44 และไม่ควรพ่วง 2 ค่ายมือถือ

โดนเฉือนเนื้อก็ไม่สะเทือน
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. กล่าวว่า เห็นด้วยที่ที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล มีเหตุผล เพราะธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น หากหยุดเคลื่อนไหวหรือปล่อยให้ ‘ล้ม’ ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสายตานักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับส่วนกรณียืดระยะผ่อนชำระค่างวดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสถานะที่มั่นคงแข็งแรง ได้ประโยชน์มากพอสมควร “บางครั้งโดนเข้าเนื้อบ้าง แค่เนื้อช้างคงไม่สะเทือน” อดีตผู้ว่า สตง. กล่าว


P1-info-3350LINE

‘ดีแทค’ หนุนใช้ใน TOR ใหม่
ส่วนนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ต้นทุนของคลื่นความถี่ที่ทาง กสทช. นำมาประมูลนั้น สูงเกินไป อีกทั้งเมื่อมีการยืดระยะเวลาในการชำระค่าใบอนุญาตออกไปจะทำให้เกิดความแตกต่างของ Price Value ซึ่งคลื่นความถี่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานดาต้าของผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ควรจะนำมาตรการในการช่วยเหลือดังกล่าวมาใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคตด้วย รวมถึงกำหนดราคาให้มีความเหมาะสม

‘ทรู-AIS’ กระแสเงินสดเพียบ
ในปี 2560 เอไอเอสมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (หลังหักภาษี) เท่ากับ 65,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน ขณะที่ ทรูมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานสุทธิในปี 2560 เป็น 5 พันล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และการชำระเงินภายใต้สัญญาดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมภายใต้เทคโนโลยี HSPA


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22-24 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กสทช. ส่อเลื่อนประมูล ‘คลื่น 1800’
ประมูลคลื่น 900/1800 ส่อยาว ‘บอร์ด กสทช.’ รอมติกฤษฎีกา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว