โฆษณหน้าร้อนสะพัด ยักษ์ธุรกิจอัดเงิน3เดือน2.4หมื่นล้าน

20 มี.ค. 2561 | 11:10 น.
MI คาดงบโฆษณาหน้าร้อนสะพัดกว่า 2.44 หมื่นล้าน ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งแชมป์ใช้เงินสูงสุด เหตุเวลาทีวีดิจิตอลเหลือ มีช่องให้เลือกมาก ขณะภาพรวมทั้งปีงบใช้สื่อคาดโต 6% แม้ 2 เดือนแรกติดลบ 7%

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนท์ จำกัด (MI) เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้เม็ดเงินโฆษณาในช่วงหน้าร้อนปีนี้มีมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และน่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับช่วงปี 2559 เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มหันกลับมาใช้งบโฆษณา และการส่งเสริมการขายสินค้ากันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการใช้งบประมาณในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 4% หรือมีมูลค่า 2.44 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_269296" align="aligncenter" width="503"] วัต เรืองเดชวรชัย วัต เรืองเดชวรชัย[/caption]

โดยงบประมาณดังกล่าว แบ่งเป็นการใช้งบโฆษณาในเดือนมีนาคม 8,800 ล้านบาท เดือนเมษายน ใช้ประมาณ 8,000 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคมใช้ประมาณ 7,600 ล้านบาท และคาดว่าการใช้งบประมาณดังกล่าวจะมีการแบ่งงบประมาณเพื่อใช้สำหรับการจัดโปรโมชันและส่งเสริมการขายโดยเฉพาะประมาณ 27-28% ส่วนข้อมูลสินค้าที่ใช้งบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ได้เข้ามาใช้งบประมาณมากที่สุด โดยเติบโต 600% จากมูลค่าเพียง 117 ล้านบาท ในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาเป็น 811 ล้านบาท

“ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งหรือทีวีช็อปปิ้ง ถือว่าเป็นสินค้าที่เข้ามาไดรฟ์ตลาดให้มูลค่าสื่อเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยติดท็อป 5 เลย ปีนี้กลับมาติดอันดับท็อป 5 ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากเวลาของช่องทีวีดิจิตอลไม่เต็ม ทุกช่องมีเวลาเหลือ ขณะที่ช่องทีวีมีจำนวนมาก อย่างกรณีช่อง 8 ที่หันมาทำธุรกิจทีวีช็อปปิ้งและประสบความสำเร็จสูง และผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีการดิวโปรเจ็กต์ร่วมกันกับช่อง ทำให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่ใช้งบประมาณสูงสุด ซึ่งบริษัทเก็บข้อมูลตามเรตการ์ด แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีดิวพิเศษได้เหมือนกัน”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ส่วนสินค้าที่ยังคงใช้งบประมาณอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เติบโต 50% เป็นอันดับที่ 2 รองลงมาเป็นกลุ่มซอฟต์ดริงก์ ที่ใช้งบเติบโต 36% ซึ่งเห็นได้จากในขณะนี้มีแคมเปญการตลาดจากกลุ่มเครื่องดื่มมากกว่า 8 แคมเปญที่ออกมาทำตลาด และใช้เกือบทุกกลุ่มของเครื่องดื่ม ส่วนกลุ่มรถยนต์ปิกอัพ ใช้งบเติบโตลดลง 30% แต่ยังคงเป็นอันดับที่ 4 ที่ใช้งบประมาณสูงสุด รวมถึงกลุ่มโทรศัพท์มือถือ ที่แม้ว่าจะลดระดับความร้อนแรงในการใช้งบลง เพราะปีนี้ใช้เติบโตลดลง 12% แต่ยังคงใช้ต่อเนื่องเป็นอันดับที่ 5

นายภวัต กล่าวอีกว่า กลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์ เป็นกลุ่มที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่มีแนวโน้มลดลง อาจจะเป็นเพราะผู้ประกอบการหันไปใช้งบกับการจัดโปรโมชัน การส่งเสริมการขาย หรือช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะมองเห็นว่าการใช้งบประมาณผ่านสื่อต่างๆ อาจจะไม่ได้ช่วยในเรื่องยอดขายเท่าไรนัก ทำให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ งบประมาณโดยรวมตกไป 7% หรือมีมูลค่ากว่า 1.51 หมื่นล้านบาทแต่ภาพรวมทั้งปีคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ 6% หรือมีมูลค่ากว่า 9.13 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มที่ช่วงหน้าร้อนผู้ประกอบการใช้งบเพิ่มมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว