‘มิลด์บอร์ด’ลงดาบ 20 โรงนมเทอม1/61

21 มี.ค. 2561 | 04:41 น.
มิลด์บอร์ดตีกลับสหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็นยื่นขอนำเข้านมผง 2,000 ตัน ชี้ผิดขั้นตอนชัด ด้านนมโรงเรียนเทอม 1/2561 ส่อวุ่น 20 รายถูกลดสิทธิ์-ตัดสิทธิ์ กว่า 24 ตัน/วัน อย.-กรมอนามัย ยัวะ 2 โรงนมแหกกฎสั่งชะลอผลิตนมผสมฟลูออไรด์

นับตั้งแต่ปี 2557 ที่เวียดนามเข้ามากว้านซื้อโคนมทุกรุ่นจากไทยส่งผลให้โคนมของไทยลดจำนวนลงอย่างมาก ส่งผลกระทบทำให้นํ้านมดิบในประเทศลดลงนั้น แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด)เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ทางสหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็น จำกัด ได้ส่งเรื่องการขอโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2561 จำนวน 2,000 ตัน อ้างเหตุผลนํ้านมดิบที่จะนำไปผลิตนมกล่องเพื่อจำหน่ายตามชายแดนมีไม่เพียงพอ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของสหกรณ์พบว่า เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มนิติบุคคล 1ที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงการรับซื้อนํ้านมดิบจากเกษตรกรเพื่อประสงค์ขอรับโควตาในส่วนของนมโรงเรียนทั้งหมด ไม่ได้รับซื้อนํ้านมดิบเพื่อขอโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย ที่ประชุมจึงเห็นว่าผิดระเบียบ

TP8-3349-1VB ขณะที่หากสหกรณ์ต้องการขอนำเข้านมผงขาดมันเนยจะต้องขอผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดสรรโควตาอัตราภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนย นมดิบ และนมพร้อมดื่มก่อน จะลัดขั้นตอนไม่ได้ ด้านการลงโทษตัดสิทธิ์-ลดสิทธิ์ ผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศหลักเกณฑ์คุณภาพนํ้านมดิบของมิลค์บอร์ด ที่จะถูกลงโทษในภาคเรียนที่ 1/2561 (เปิดเรียน 17 พ.ค.61) มีทั้งหมด 20 ราย ปริมาณนํ้านมดิบรวม 24 ตัน/วัน จะถูกลดสิทธิ์ ตัดสิทธิ์ หรือยกเลิกสัญญาทันที ยกตัวอย่าง อาทิ บริษัท พิษณุโลกโกลด์มิลค์ จำกัด มีหนังสือตักเตือน ส่วนกลุ่มที่โดนลดสิทธิ์ 5% อาทิ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย อ.ส.ค. (มวกเหล็ก) และโรงงานปราณบุรี, บริษัท ภูมอมิลค์ จำกัด (บจก.) ,บจก.เทียนขำ แดรี่, บจก.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่โดนลดสิทธิ์ 10% ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น (ลดสิทธิ์/ยกเลิกสัญญา) และที่ถูกลดสิทธิ์ 50% จากนักเรียนท้องเสีย ป่วย อาเจียน ที่จ.สมุทรปราการ ได้แก่ บจก.ทีดี แดรี่ฟู้ดส์แจ้งสาเหตุเกิดขึ้นเพราะกระบวนการขนส่งของผู้รับจ้างขนส่ง แต่ว่าพื้นที่ที่บริษัทดังกล่าวไปส่งเป็นพื้นที่ของสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัดซึ่งสหกรณ์จะมีความผิดร่วมหรือไม่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

ส่วนกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิ์ 25% ที่ทั้งกรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่พอใจ ได้แก่ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี สหกรณ์โคนมชะอำห้วยทรายและสหกรณ์โคนมพัทลุง จากการฝ่าฝืนจำหน่ายนมฟลูออไรด์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งในกฎเกณฑ์ระเบียบชัดเจนว่าจะจำหน่ายได้เฉพาะพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น เพราะถ้าเด็กรับฟลูออไรด์มากไปจะส่งผลทำให้มีปัญหาฟันตกกระ จากการละเมิดดังกล่าวส่งผลทำให้ 2 หน่วยงานสั่งยกเลิกหรือชะลอการผลิตนมโรงเรียนผสมฟลูออไรด์ทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว