เปิดโมเดล‘ไฮสปีดเทรน’แสนล้าน กรุงเทพฯ-หัวหิน

05 มี.ค. 2561 | 03:45 น.
การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม. สัญจร ที่ จ.เพชรบุรี วันที่ 5-6 มีนาคมนี้ นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 100,125.07 ล้านบาท ให้ที่ประชุมพิจารณาผลศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน

[caption id="attachment_256486" align="aligncenter" width="503"] นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ[/caption]

โดยมีสาระสำคัญคือ เสนอให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร เริ่มต้นโครงการจากสถานีบางซื่อกรุงเทพ มหานคร ไปตามแนวเส้นทางรถไฟ สายใต้ รูปแบบโครงสร้างของทางรถไฟเป็นทางยกระดับสลับกับโครงสร้างระดับพื้นดิน ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงอําเภอเมืองเพชรบุรี แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกจากแนวเส้นทางรถไฟในปัจจุบันไปใช้พื้นที่เกาะกลางที่อยู่ระหว่างทางหลักและทางขนานของถนนเพชรเกษมแล้วเข้าสู่แนวเส้นทางรถไฟทางคู่อีกครั้งบริเวณสถานีเขาทะโมนแล้วมุ่งลงใต้ผ่านอําเภอชะอำ และสิ้นสุดที่สถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 4 สถานี คือ สถานีนครปฐม ซึ่งก่อสร้างบริเวณสถานีรถไฟเดิม และอีก 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีราชบุรี เพชรบุรี และหัวหิน

TP06-3345-1 นอกจากนี้ยังเสนอให้กําหนดแนวเขตทาง ตามเส้นทาง สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร โดยมีที่ดินจะต้องเวนคืนจํานวน 897 แปลงคิดเป็นเนื้อที่สำหรับการเวนคืนประมาณ 900 ไร่และอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 272 หลัง
สำหรับกรอบวงเงินลงทุนโครงการรวม 100,125.07 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,848.10 ล้านบาท ค่างานโยธา ราง โครงสร้างพื้นฐาน 69,571.76 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 14,254.60 ล้านบาท และค่างานขบวนรถ 11,450.61 ล้านบาท โดยได้ประมาณการจำนวนผู้โดยสาร ในปี 2566 จำนวน 10,094 คนต่อวัน ปี 2576 จำนวน 28,984 คนต่อวัน ปี 2586 จำนวน 49,634 คนต่อวัน และปี 2596 จำนวน 57,603 คนต่อวัน

การลงทุนในโครงการนี้ที่ปรึกษาเสนอรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมดําเนินงานโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนลงทุนทั้งงานโยธาและงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ โดยภาครัฐรับผิดชอบในงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพียงอย่างเดียว เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงตํ่าสุด เป็นการลงทุนที่ลดภาระทางการเงินและลดความเสี่ยงของภาครัฐในการลงทุนโครงการ เนื่องจากเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบํารุงโครงการ ซึ่งแม้ว่าผลการวิเคราะห์ทางการเงินจะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอาจต้องสนับสนุนทางการเงิน (Subsidy) ให้เอกชนผู้รับสัมปทานมากกว่าทางเลือกอื่นๆ แต่ก็เป็นการทยอยชําระค่าสนับสนุนด้านการเงินในภายหลัง

บาร์ไลน์ฐาน สำหรับการดําเนินการในรูปแบบที่ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนงานโยธา ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อออกแบบรายละเอียดงานโยธา (Detailed Design) แล้วประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานมาก หากดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost เอกชนลงทุนทั้งงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า เอกชนจะสามารถออกแบบและก่อสร้างไปพร้อมกัน ทำให้ลดระยะเวลาการดำเนินโครงการได้

กระทรวงคมนาคมเห็นว่า รูปแบบ PPP Net Cost ให้เอกชนลงทุนทั้งงานโยธาและระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า จะดำเนินการประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับสัมปทานที่เสนอส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐมากที่สุดหรือขอรับการสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุด รวมทั้งข้อเสนอที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างโครงการสั้นที่สุดโดยจะประกวดราคาในลักษณะแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบสัญญาเดียว (Single Package) ที่กำหนดให้เอกชนลงทุนค่างานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า (ยกเว้นค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน) รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบํารุงโครงการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว