‘ซูเปอร์ คลัสเตอร์’ พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมไทย

05 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
หลังจากที่ปี 2558 เป็นปีแห่งการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่รัฐบาลออกแรงกระตุ้นแบบจัดเต็มเป็นระลอกเรียกว่าทั้ง "โด๊ป" ทั้ง "ดัน" หวังไปสู่อุตสาหกรรมก้าวหน้าขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตไทย สอดคล้องกับที่รัฐบาลต้องการให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุนตามที่คาดหวังไว้ โดยก้าวไปสู่การเป็นฐานผลิตใหม่ที่ใช้แรงงานน้อยลง หันไปเน้นผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโลกที่โฟกัสความเป็น "กรีน" และชู "นวัตกรรม" มากขึ้น

[caption id="attachment_24657" align="aligncenter" width="500"] สิทธิประโยชน์สำหรับคลัสเตอร์ สิทธิประโยชน์สำหรับคลัสเตอร์[/caption]

รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเคาะมาตรการ "คลัสเตอร์" ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. ซูเปอร์คลัสเตอร์ 2.คลัสเตอร์เป้าหมายอื่นๆ 3.กิจการที่สนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ ผลักดันให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ไปสู่ฐานผลิตใหม่

ให้สิทธิประโยชน์สุดโต่ง

โดยเฉพาะ "ซูเปอร์ คลัสเตอร์" ที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์จูงใจสูงสุด มีมาตรการจูงใจทางภาษีจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ ไม่ว่าจะเป็น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50 % เพิ่มเติมอีก 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร สำหรับกระทรวงการคลังจะให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ

นอกจากนี้หากเป็นกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง กระทรวงการคลังจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10-15 ปี ส่วนนอกเหนือจากด้านภาษีแล้ว จะพิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวร สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ และอนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมได้ (ดูตาราง)

ทั้งนี้การลงทุนในกลุ่มคลัสเตอร์ทั้งหมดจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอภายในสิ้นปี 2559 และต้องเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ บีโอไอพิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสม

จะเห็นว่า "ซูเปอร์คลัสเตอร์" เป็นไฮไลต์สำคัญ ที่รัฐบาลเลือกเป็นจุดขายหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ สูงสุด ใช้เป็นเครื่องมือในการออกไปโรดโชว์ดึงทุนเข้าบ้าน เจาะจงเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมีคลัสเตอร์ 6 กลุ่มประกอบด้วย 1.กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม 3.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.ดิจิตอล 5.Food Innopolis (นวัตกรรมทางอาหาร) 6.คลัสเตอร์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Hub ) ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และภูเก็ต

ก้าวสู่อุตสาหกรรมก้าวหน้า

ยกตัวอย่าง คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเน้นการลงทุนในจังหวัดชลบุรีและระยอง จะเป็นโครงการลงทุนปิโตรเคมีหรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ การผลิตพลาสติกหรือเคมีภัณฑ์ชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ และบรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่ล่าสุดภาคเอกชนเด้งรับมาตรการรัฐ เดินแผนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะเกิดมากขึ้นในปี 2559 เป็นต้นไป

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่ากลุ่มบริษัทที่ได้ตอบรับจะลงทุนในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั่วไป ชนิดพิเศษและไบโอพลาสติก จ่อแถวเข้ามาแล้วในเบื้องต้นเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท เม็ดเงินลงทุนดังกล่าว จะเป็นในส่วนของการลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดพิเศษถึง 1.08 แสนล้านบาท เป็นเงินลงทุนในส่วนของไบโอพลาสติก 2.9 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินลงทุนสำหรับปิโตรเคมีทั่วไป 5.77 หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานอีก 1.3 หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากการลงทุนของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) กลุ่มเอสซีจี บริษัท วีนิไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ดาวเคมีคอล เป็นต้น

คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม จะเป็นการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Microelectronics Design และ Embedded System Design ผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ งานอุตสาหกรรม Hard Disk Drive และ Solid State Drive เป็นต้น รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้

ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หน่วยเก็บข้อมูลหรือหน่วยเก็บความจำ ที่เรียกว่าฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์(Hard Disk Drive: HDD)เป็นลักษณะจานแม่เหล็กหัวอ่าน ที่พัฒนามาก่อนแล้ว 20-30 ปี เริ่มมี SOLID STATE DRIVE หรือ SSD ที่เพิ่งพัฒนามาในช่วง 7-10 ปีที่ผ่านมา มีความทันสมัยมากกว่า มีขนาดบางเท่าแผ่นนามบัตร และทำให้เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น เข้ามาแทนที่ HDD ซึ่งเป็นหน่วยเก็บข้อมูลที่ใช้มากใน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี

ส่วนคลัสเตอร์ดิจิตอล รัฐบาลเน้นการลงทุนที่จังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต ที่ต้องการให้เป็นศูนย์กลางดิจิตอล เช่น การผลิต Software (Embedded Software, Enterprise Software, Digital Content), Cloud Service, Data Center, Software Park, Movie Town ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตามอง

เช่นเดียวกับคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนต้องตั้งสถานประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีและนครราชสีมา โดยกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โครงการผลิตไส้กรองอากาศที่ทำจากเซรามิกส์ที่มีความละเอียดสูงมาก โครงการผลิตอุปกรณ์กำเนิดก๊าซสำหรับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ (Airbag Inflator) โครงการผลิตเทอร์โบชาร์จเจอร์ โครงการผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โครงการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในรถยนต์ อาทิ ระบบเบรก ABS ป้องกันไม่ให้ล้อล็อกเมื่อมีการเบรกฉุกเฉิน และระบบ ESC ซึ่งเป็นระบบควบคุมการทรงตัวของรถไม่ให้เสียหลัก

ตอบสนองอุปสงค์ระดับโลก

ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศกล่าวว่า อุตสาหกรรมอนาคต เป็นการต่อยอดฐานอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากทุนในประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลิตกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองทิศทางความต้องการ (อุปสงค์) ในระดับโลกและภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมอนาคตของสศอ. สามารถจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล 2. กลุ่มวัสดุสีเขียว อาทิ พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ชีวภาพ สิ่งทอสีเขียว วัสดุก่อสร้างซึ่งใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและของเหลือใช้ (รีไซเคิล) 3. กลุ่มสุขภาพ ได้แก่ เภสัชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 4.กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี เช่น การผลิตแบบเพิ่มเติม หุ่นยนต์อัจฉริยะ ไมโครและนาโนอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันประเทศ และ 5.กลุ่มยานพาหนะ อาทิ ยานยนต์สะอาด ระบบราง อากาศยาน

ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฐานผลิตไทยที่เริ่มขยับตัวไปสู่ฐานการผลิตใหม่ แม้ที่ผ่านมาเป็นการปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยภาคเอกชนรายใหญ่ แต่เชื่อว่านับจากนี้ไป อุตสาหกรรมสีเขียวหรือ "กรีน" และการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในภาคผลิต จะได้รับการขานรับจากตลาดโลกมากขึ้น โดยมีแรงหนุนหลักจากรัฐบาลที่ให้การส่งเสริมลงทุนและจากอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559