ทดสอบวิศวกรจีนฉลุย เร่งถ่ายโอนเทคโนโลยี

06 ธ.ค. 2560 | 13:40 น.
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเด้งรับรถไฟไทย-จีน ไฟเขียวอีไอเอโครงการก่อนเชิญนายกฯประยุทธ์ ตอกเข็ม 21 ธันวาคมนี้ ด้านสภาวิศวกรสรุปผลการทดสอบวิศวกรจีนรุ่น 1-3 และเดินหน้าจัดหลักสูตรถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านออกแบบรองรับโครงการเฟส 2

สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โครงการรถไฟไทย-จีนเรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นส่งผลให้กระทรวงคมนาคมพร้อมเรียนเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีตอกเข็มก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนซึ่งตามกำหนดการเบื้องต้นเป็นวันที่ 21 ธันวาคม 2560 นี้ในเส้นทางตอนแรก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ก่อนที่จะเร่งดำเนินการในส่วนอื่นๆต่อเนื่องกันไป

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการทดสอบวิศวกรจีนที่จะเข้ามาทำงานใโครงการรถไฟไทยจีน ว่าสภาวิศวกรได้ดำเนินการทดสอบวิศวกรจีนไปแล้วจำนวน3 รุ่นที่ นครเทียนจิน ประเทศจีนในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีวิศวกรจีนที่เข้ารับการทดสอบรวมกัน ทั้ง 3 รุ่นจำนวน 226 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกรออกแบบ โดยผลการทดสอบสรุปได้ดังนี้

[caption id="attachment_238014" align="aligncenter" width="377"] ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร[/caption]

วิชากฎหมายและจรรยาบรรณ วิศวกรจีนทำคะแนนเฉลี่ยได้ 44 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน ผ่านเกณฑ์ 30 คะแนนทุกคน และวิชาสภาพท้องที่ วิศวกรจีนทำคะแนนเฉลี่ยได้ 81.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ผ่านเกณฑ์ 60 คะแนนทุกคน สำหรับวิศวกรจีนที่สอบผ่านจะได้รับใบรับรองฯ ซึ่งจะใช้ได้กับเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเท่านั้น

สำหรับวิศวกรจีนที่ยังเหลือค้างอยู่อีกประมาณกว่า 70 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ยังรอความชัดเจนจากจีนว่าจะพร้อมเข้ารับการอบรมและทดสอบเมื่อใด ซึ่งทางสภาวิศวกรมีความพร้อมที่จะทำการอบรมและทดสอบตลอดเวลา ด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากประเทศจีนขณะนี้ทางไทยต้องการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จำเป็นเร่งด่วน 2 ด้าน คือ 1. ด้านการเดินรถและซ่อมบำรุง (operation and maintenance) และ 2. ด้านการออกแบบ (design) โดยทั้ง 2 ด้านนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการร่วมไทยจีนครั้งที่ 23 ได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่าทางไทยจะเป็นฝ่ายออกแบบงานโยธาทั้งหมดสำหรับโครงการในเฟสที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย โดยจีนจะรับเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำเท่านั้น ดังนั้นไทยจะต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีการออกแบบโครง สร้างพื้นฐานด้านโยธาเพื่อรองรับการดำเนินงานต่อไป

“ขณะนี้สภาวิศวกรกำลังเร่งจัดหลักสูตรถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านออกแบบงานโยธา 11 แขนง และการเชื่อมต่อกับแขนงอื่นๆเช่นไฟฟ้า และเครื่องกลอีก 16 แขนง โดยเมื่อหลักสูตรได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ทางไทยจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปเข้ารับการอบรมในหลักสูตรดังกล่าวที่ประเทศจีน โดยจะนำความรู้ที่ได้มาฝึกอบรมวิศวกรไทยรุ่นต่อๆไปเพื่อเตรียมความพร้อมวิศวกรไทยที่จะรองรับงานออกแบบด้านโยธาในเฟส 2 สำหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่น การประกอบตู้รถ การสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบ จะได้เจรจากับฝ่ายจีนต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว