เรื่องเล่าจากยอดดอย ... อาหารจากแผ่นดิน (ตอนจบ)

29 พ.ย. 2560 | 03:30 น.
MP28-3317-5A

เรื่องเล่าจากยอดดอย ... อาหารจากแผ่นดิน โดย ฐานทรรศนาจร | เมฆสีเทาเข้มก้อนโตค่อย ๆ เคลื่อนอย่างช้า ๆ มาตามสายลมที่โบกพัด จนต้องกระชับเสื้ออุ่นตัวเก่งให้แน่นขึ้น เนื้อผ้าที่ทอจากใยกันชงเนียนละเอียดดูบางเบา แต่ให้ความอบอุ่นได้ดีไม่แพ้ผ้าฝ้ายผืนหนา ปักลายเส้นสีต่าง ๆ ด้วยมือ รับกับบรรยากาศปลายฝนต้นหนาวของยอดดอยได้เป็นอย่างดี

หลังจากทานมื้อสาย ‘ข้าวกล้องดอย’ หุงเม็ดอ้วนป้อมสีขาว ผสมสีม่วงเข้ม สีน้ำตาลและสีแดง หอมอร่อย พร้อมกับห่อหมกปลาเรนโบว์ เทราต์ ที่เลี้ยงโดยหน่วยวิจัยประมงพื้นที่สูงอินทนนท์ ในบ้านแบมบู พิงค์ กระท่อมเล็ก ๆ กึ่งไม้ กึ่งปูน สีชมพูดสดใสกลางทุ่ง สถานที่ซึ่งได้รับการดัดแปลงให้เป็นโฮมสเตย์ขนาดย่อม โอบล้อมด้วยขุนเขาและสายลมที่พัดเข้ามารอบทิศทาง จนรู้สึกถึงความตื่นเต้นของดวงตากับระยะที่ไกลที่สุดที่จะสามารถมองได้ และระยะที่ใกล้ที่สุดกับการได้เห็นเต่าทองสีแดงตัวน้อย ๆ ค่อย ๆ ไต่อย่างคล่องแคล่ว บนยอดหญ้าที่กำลังปลิวพริ้วไสวตามแรงลม


MP28-3317-8A

ถึงเวลาโบกมือลาความสุขบนยอดดอย เพื่อเดินทางต่อไปยัง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงปางดะ ที่ซึ่งสามารถเพาะพันธุ์ ‘ลูกฟิก’ หรือ ‘มะเดื่อฝรั่ง’ ผลไม้ที่เต็มไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์ ดังปรากฏในคำเล่าขานผ่าน ‘ท่านภี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี’ ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ว่า


MP28-3317-4A

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเล่าว่า เมื่อครั้งยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จย่าทรงหาผลมะเดื่อมาให้เสวยอยู่เสมอ หากพระองค์ทรงเป็นแผลในพระโอษฐ์ (ร้อนใน) สมเด็จย่าจะทรงฝานผลมะเดื่อเป็นแผ่นบาง ๆ ปิดแผลไว้ แล้วแผลจะหายไว พระองค์จึงทรงโปรดผลไม้ชนิดนี้เป็นพิเศษ”


MP28-3317-1A

สำหรับการปลูกมะเดื่อฝรั่ง แม้จะเริ่มต้นมาตั้งแต่ราว 30-40 ปีก่อน แต่เนื่องจากเป็นการลองผิดลองถูก และชาวไทยยังไม่คุ้นชินกับผลไม้ประเภทนี้ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมหรือมีการซื้อขายอย่างแพร่หลายเท่าใดนัก การศึกษาและเพาะพันธุ์อย่างยาวนานตั้งแต่ดอยอ่างข่าง ดอยอินทนนท์ ก็ยังไม่สำเร็จจนเกือบจะถอดใจ แต่ก็มาประสบความสำเร็จที่ ‘สถานีเกษตรหลวงปางดะ’ ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร พื้นที่ความสูงระดับปานกลาง ซึ่งสามารถทำการทดลองและปลูกพืชสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี กับศาสตร์และองค์ความรู้ทางด้านการเกษตร ที่ตีโจทย์ความต้องการของต้นมะเดื่อฝรั่งอย่างแตกฉาน ของ ‘คุณวิพัฒน์ ดวงโภชน์’ หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงปางดะ คนปัจจุบัน

 

[caption id="attachment_235086" align="aligncenter" width="334"] วิพัฒน์ ดวงโภชน์ วิพัฒน์ ดวงโภชน์[/caption]

ปัจจุบัน สายพันธุ์มะเดื่อฝรั่งที่ได้รับความนิยม มีรสชาติดี ซึ่งปลูกในโครงการหลวง มีอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ พันธุ์ Black Genoa ลักษณะผลสีดำเข้ม รสชาติหวาน, พันธุ์ Brown Turkey ผิวสีเข้ม แต่เวลาผลสุกเนื้อผิวจะแตกลายงา รสหวานจัด และพันธุ์ Black Mission ผลสีเข้ม หวานน้อยกว่าอีก 2 สายพันธุ์ข้างต้น วิธีสังเกตผลมะเดื่อฝรั่งสุกพร้อมทาน คือ ให้ดูที่ก้น หากเริ่มปริและผลนิ่ม แสดงว่า แก่จัด สามารถเด็ดไปทานหรือนำไปประกอบอาหารได้ ปัจจุบัน ในโครงการหลวงเริ่มวางจำหน่าย โดยจัดเป็นกล่อง ๆ ละประมาณ 4-6 ผล ราคาอยู่ที่ 80 บาท


MP28-3317-7A

ถัดจากสถานีเกษตรหลวงปางดะไปไม่ไกล คือ ‘สวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่ (ศูนย์ฯ ทุ่งเริง)’ ต้นแบบสำคัญของการพัฒนาศูนย์วิจัยสายพันธุ์กุหลาบ สู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หลอมรวมความสุขของนักเดินทางและรายได้ของคนในชุมชนไว้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการออกแบบลักษณะภูมิสถาปัตยกรรมที่จัดให้กุหลาบมากกว่า 183 สายพันธุ์ ทั้งกุหลาบที่มีกลิ่นหอม กุหลาบพันธุ์เลื้อย และกุหลาบพันธุ์ช่อ นับหมื่น ๆ ดอก อวดโฉมชูช่องดงามตลอดทั้งปี พร้อมกับการนำผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ คือ ผักออร์แกนิกและอะโวคาโด มาดัดแปลงเป็นเมนูสุดพิเศษนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำปั่นหรือเค้ก ที่ทำจากผักกาดกวางตุ้งอินทรีย์ ผักและน้ำสลัดที่มีให้เลือกถึง 4 รูปแบบ คือ น้ำสลัดจากอะโวคาโดเสาวรส มันม่วง หรือเคพกูสเบอร์รี่ โดดเด่นที่สุดต้องยกให้กับการเนรมิตอะโวคาโด ซึ่งปลูกมากในสถานีเกษตรหลวงแห่งนี้ เป็นไอศกรีมอะโวคาโดในอะโวคาโดลูกสวย ทานอิ่มแล้ว ก็จบด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอะโวคาโดหลากชนิด ตั้งแต่ สบู่ก้อน สบู่เหลว น้ำมันอะโวคาโด แชมพู ครีมนวดผม และครีมบำรุงผิว ที่นับตั้งแต่การเริ่มผลิต สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในปีแรกถึง 3 แสนบาท ปีต่อมา เพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนบาท และในปีนี้มูลนิธิโครงการหลวงตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดพร้อมจำหน่ายในงาน ‘รอยัล โปรเจ็กต์ แอท สยามพารากอน’ ระหว่างวันที่ 23-29 พ.ย. นี้


MP28-3317-3A MP28-3317-2A

นี่คือ ก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ จากพลังของพระราชาผู้พลิกไร่ฝิ่นเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชเมืองหนาวนานาชนิด หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเขา ส่งต่อผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อชาวไทยทุกคน


MP28-3317-6A

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 28

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว