ส่งออกอาหารสำเร็จรูปลุ้นเสมอตัว ดีสุดปีนี้1.9แสนล้าน

11 พ.ย. 2560 | 07:15 น.
สินค้าอาหารเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเป็นครัวของโลก และผลประโยชน์ตกกับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยปีนี้สถาบันอาหารตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกสินค้าอาหารในภาพรวมของประเทศตั้งเป้าส่งออกเมื่อต้นปีไว้ที่ 2.1 แสนล้านบาท ล่าสุดสถานการณ์เป็นอย่างไรนั้น

++9 เดือน6กลุ่มยังติดลบ
“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 9 เดือนแรกปี 2560 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในภาพรวมส่งออกแล้วมูลค่า 7.68 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.4% ปริมาณส่งออกรวม 25.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.3% โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง นํ้าตาลทราย เป็นต้น ส่วนอาหารสำเร็จรูป 6 กลุ่ม (ทูน่า, อาหารทะเล, สับปะรด, ผักและผลไม้, ข้าวโพดหวานและอาหารพร้อมรับประทาน (รวมซอสและเครื่องปรุงรส)) ที่ส่งออกโดยสมาชิกสมาคมเกือบ 200 บริษัท ช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่า 1.46 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.73% ส่วนปริมาณส่งออก 2.08 ล้านตัน

[caption id="attachment_228655" align="aligncenter" width="503"] “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป[/caption]

++ขยายตัวลดลง 2.3%
ทั้งนี้หากแยกแยะการส่งออกอาหารสำเร็จรูปรายสินค้าทั้ง 6 กลุ่ม ในส่วนของทูน่าส่งออกแล้ว 5.68 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.5%, อาหารทะเล 8,926 ล้านบาท ลดลง 3.6%, สับปะรด 1.94 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.9%, ข้าวโพดหวาน 5,175 ล้านบาท ลดลง 0.2%, ผักและผลไม้ 2.31 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.2% และอาหารพร้อมทาน 3.28 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.2% หลายปัจจัยลบรุม

“การส่งออกอาหารสำเร็จ รูปภาพรวมทั้ง 6 กลุ่มที่ยังติดลบเนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญได้แก่ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลราคาสินค้าไทยสูงขึ้นต่อรองราคายาก ถูกลูกค้าบีบขึ้นราคาไม่ได้ ผลจากราคาพืชผลเกษตรลดลง เช่นสับปะรดที่ผลผลิตปีนี้ออกมามาก จากฝนฟ้าดี ราคาสับปะรดเข้าโรงงานจากระดับ 10 กว่าบาทต่อกิโลกรัมในปีที่ผ่านมาที่มีภาวะฝนแล้งผลผลิตน้อย ปีนี้ลดเหลือระดับ 5 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลถึงสินค้าส่งออกที่ราคาลดลงตามวัตถุดิบด้วย ปัญหาไอยูยูทำให้วัตถุดิบอาหารทะเลขาดแคลนและมีราคาสูง ปัญหานํ้าท่วมซึ่งคงต้องลุ้นในส่วนของผลผลิตข้าวโพดหวานที่กำลังจะออกมาปลายปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงปัญหาที่ไทยยังถูกสหภาพยุโรป(อียู) เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)ข้าวโพดหวานกระป๋องระหว่าง 3.1-14.3% เป็นต้น”

สำหรับการส่งออกสินค้าทั้ง 6 กลุ่มในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ทางสมาคมคาดดีที่สุดน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วหรือเสมอตัว (ปี 2559 ส่งออก 1.99 แสนล้านบาท) จากต้นปีนี้ตั้งเป้าขยายตัวไว้ที่ 5% หรือจะมีมูลค่าราว 2.1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดีความต้องการของตลาดยังมีมาก แต่ไทยจะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่จะมีไม่เพียงพอในการผลิตส่งมอบหรือไม่ เช่นกลุ่มผักและผลไม้ในส่วนของสินค้ากะทิสำเร็จรูป นํ้ามันมะพร้าว นํ้ามะพร้าวพร้อมดื่มที่ยังไปได้ดี แต่มีปัญหาวัตถุดิบมะพร้าวไม่เพียงพอ รวมถึงวัตถุดิบอาหารทะเลที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไอยูยู เพราะวัตถุดิบอาหารทะเลรวมถึงปลาทูน่าต้องมาจากแหล่งที่ได้รับการรับรองการทำประมงที่ถูกต้องหรือถูกกฎหมายเท่านั้น

++ปีนี้เสมอตัว-ปี61ยังเหนื่อย
“สรุปปีนี้ดีที่สุดคือแค่เสมอตัว ที่น่าจับตามองหลังจากนี้คือจีน เวียดนาม เริ่มมีการผลิตทูน่ากระป๋องและอาหารทะเลในประเทศเพื่อส่งออกมากขึ้น และกำลังจะเป็นคู่แข่งของไทย รวมถึงอินเดียในส่วนของสินค้าข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง แต่คุณภาพ และความน่าเชื่อถือยังสู้ไทยไม่ได้ ส่วนสิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับปีหน้าคือ มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรณีที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทยหรือจีนก็พูดตรงๆ ว่าให้เราซื้อสินค้าเขาเพิ่ม หรือไปลงทุนกับเขาเพิ่ม ขณะที่การค้าโลกจะเป็นในลักษณะทวิภาคี มีการเจรจาเอฟทีเอ 2 ฝ่ายแทนเอฟทีเอที่มีหลายประเทศเข้าร่วมที่เจรจาหรือทำได้ยากขึ้น รวมถึงต้นทุนกระป๋องบรรจุที่รอบปีนี้ปรับขึ้นมาแล้ว 2 รอบ รวมขึ้นมาแล้วกว่า 10% ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น”

วิทยุพลังงาน ++ตลาดเอเชียโตวันโตคืน
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวอีกว่า ตลาดข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องรวมถึงสินค้าอาหารส่งออกในภาพรวมของไทยกำลังกระจายหรือเจาะตลาดมายังโซนเอเชียมากขึ้น ทั้งตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ขณะที่การส่งออกของประเทศเหล่านี้ก็ไปได้ดีเช่นกัน และส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ขาดดุลการค้าไทยหรือขาดดุลไม่มาก ทำให้ข้อกีดกันมีน้อย

“ในงาน ANUGA ครั้งที่ 34 ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงและใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ระหว่างวันที่ 7-11 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากทั่วโลกกว่า 7,400 ราย ในจำนวนนี้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 172 ราย มีผู้เข้าชมงาน 1.65 แสนรายมากกว่าการจัดครั้งก่อน สินค้าอาหารไทยที่ยังขายได้ดีได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวซึ่งไปเป็นสินค้าที่ไทยนำไปโชว์มากที่สุด อาหารพร้อมทานในเชิงสแน็ก ซุปหรือแกงบรรจุซอง รวมถึงข้าวโพดหวานก็ยังไปได้ดี แต่ในสินค้าข้าวโพดหวานกระป๋องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าลูกค้าได้นำราคาของอินเดียมาต่อรองเรา ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันราคาสินค้าไทยในอนาคต”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว