ทิพยสถานกลางพระนคร ภูมิสถาปัตยกรรมสะท้อนพระราชกรณียกิจพระมหาราชาแห่งแผ่นดิน

29 ต.ค. 2560 | 00:06 น.
MP27-3309-3a MP27-3309-5a พระบรมฉายาลักษณ์พระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เบื้องหน้าพระบรมโกศภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มิได้เป็นเพียงภาพความทรงจำสุดท้ายที่ประชาชนชาวไทยผู้เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพจากทั่วประเทศและทั่วโลก ได้จรดปลายนิ้วมือแนบปลายหน้าผาก เก็บเป็นบันทึกความทรงจำในนาทีสำคัญของชีวิตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวงของพระมหากษัตริย์ผู้อุทิศชีวิตของพระองค์เพื่อคนไทยทั้งประเทศมาตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์

MP27-3309-12 MP27-3309-11 ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ กล่าวถึงความหมายอันลึกซึ้งของพระบรมฉายาลักษณ์นี้ในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ว่าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงฉายพระรูปเมื่อปี ๒๕๔๑ และทรงเลือกด้วยพระองค์เอง เบื้องหลังด้านขวาคือภาพจิตรกรรมพระแม่โพสพ สื่อถึงความสำคัญของงานด้านการเกษตรจุดเริ่มต้นของความอุดมสมบูรณ์และความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย ด้วยความสำคัญนี้เองพระองค์จึงทรงรื้อฟื้นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขึ้นในปี ๒๕๐๓ หลังจากพระราชประเพณีนี้ว่างเว้นไปนานกว่า ๒๐ ปี สานต่อพิธีกรรมซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของชนเผ่าชาติพันธุ์ไท ตามคติความเชื่อของสังคมกสิกรรม ที่ว่าธรรมชาติได้มอบผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ทั้งนํ้าท่า และดิน ฟ้า อากาศที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก หากได้พืชพันธุ์ที่ดีและเป็นมงคลต่อสรรพชีวิตแล้ว ความร่มเย็นเป็นสุขจะบังเกิดขึ้นแก่มหาชน MP27-3309-4a

MP27-3309-7a การถอดความหมายพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติจนถึงกาลแห่งการสวรรคต รังสรรค์สู่แนวคิดการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มี “นํ้า” เป็นองค์ประกอบหลักในการหลอมรวมเรื่องราวในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงเป็นหนึ่งเดียว

MP27-3309-9a “การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมกำหนดขึ้นภายใต้กรอบของคติความเชื่อและโบราณราชประเพณีที่คำนึงถึงความสวยงามและสมพระเกียรติอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สำคัญคือการพิจารณาร่วมกับโครงการพระราชดำริมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ และกว่า ๓,๐๐๐ โครงการคือโครงการเกี่ยวกับ “นํ้า” ดังนั้น “นํ้า” จึงเป็นแก่นเรื่องราวสำคัญในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเชื่อมโยงความสำคัญของพระเมรุมาศ อาคารประกอบ และการประดับตกแต่งโดยรอบ”

MP27-3309-2a การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศโดย ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก กรมศิลปากร เริ่มตั้งแต่การกำหนดกรอบฐานโดยรอบพระเมรุมาศซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวแต่ละด้าน ๖๐ เมตร เป็นสระอโนดาตหล่อเลี้ยงบริเวณโดยรอบประดับด้วยสัตว์หิมพานต์น้อยใหญ่ และสัตว์ประจำทิศดังที่ปรากฏในไตรภูมิกถา วรรณคดีทางพระพุทธ-ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของไทย พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๘๘๘ อันประกอบด้วย “หัตถีมุข” ปากแม่นํ้าแดนช้าง ด้านทิศเหนือ “อัสสมุข” ปากแม่นํ้าแดนม้า ด้านทิศตะวันตก “อุสภมุข” ปากแม่นํ้าแดนโคอุสภะ ด้านทิศใต้ และ “สีหมุข” ปากแม่นํ้าแดนราชสีห์ ด้านทิศตะวันออก ภายในสระอโนดาตนอกจากประดับด้วยปลาหลากหลายสายพันธุ์แล้ว ยังมี “ปลานิล” ปลาทรงเลี้ยงและปลาพระราชทานต้นทางของสารอาหารจากในหลวงเพื่อคนไทยซึ่งผ่านการลงสีอย่างงดงาม ประดับตกแต่งด้วยไม้ดัดทรงไทยโบราณหลากหลายขนาดจากวัดคลองเตยใน รังสรรค์ให้สระอโนดาตไม่เพียงงดงามราวภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่ยังดูราวกับมีชีวิตสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของโลกและจักรวาลใจกลางพระนคร

MP27-3309-6a MP27-3309-8a โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับการออกแบบลายพื้นโดยรอบพระเมรุมาศ ซึ่งประกอบด้วยแผ่นอิฐปูพื้นขนาด ๕๐ x ๕๐ เซนติเมตร ๓ สีคือ สีเทา สีเหลืองทอง และสีขาว ผสมเกร็ดแก้วเมื่อสะท้อนกับแสงพระอาทิตย์และแสงไฟยามคํ่าคืนจะเกิดเป็นประกายระยิบระยับสะท้อนภาพความงามของภูมิจักรวาลอย่างแท้จริง ภายใต้การกำหนดแนวแกนของพระเมรุมาศที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับโบราณสถานสำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเส้นแกนซึ่งวางทิศเหนือ-ใต้เป็นแนวตรงจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนเส้นแกนทางทิศตะวันออก-ตะวันตกตรงเป็นเส้นแนวตรงจากเจดีย์วัดมหาธาตุ ตัดกึ่งกลางที่พระเมรุมาศ วางตัวเป็นแนวสมมาตรเชื่อมโยงกับอาคารประกอบทุกอาคารอย่างลงตัว เพื่อสะท้อนพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการชลประทานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร บริเวณนอกรั้วราชวัตรด้านทิศเหนือซึ่งเป็นทางเข้าหลักของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งได้รับการรังสรรค์ให้เป็นแปลงนาข้าวนำเสนอพันธุ์ข้าวในช่วงอายุต่างๆ ถึง ๓ สายพันธุ์คือ ต้นกล้าข้าวสายพันธุ์ปทุมธานี ๑ ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ที่กำลังแตกกอ และข้าวปทุมธานี ๘๐ ที่กำลังออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว โดดเด่นด้วยคันนาที่ได้รับการออกแบบพิเศษให้เป็นรูปเลข ๙ สัญลักษณ์สำคัญเพื่อสื่อถึงการเป็นแปลงนาของรัชกาลที่ ๙ โอบล้อมด้วยแปลงหญ้าแฝกซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงริเริ่มและพัฒนาเพื่อเป็นพืชคลุมดินชั้นดี เป็น “กำแพงธรรมชาติ” ที่สมบูรณ์แบบ ป้องกันดินทลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินอย่างไร้ที่ติ เนินดินด้านข้างปลูกต้นมะม่วงมหาชนก ๖ ต้น และต้นยางนา ๙ ต้น รวมถึงการแสดงพระอัจฉริยภาพด้านนํ้าผ่านการขุดบ่อแก้มลิง การสร้างฝายนํ้าล้น พร้อมติดตั้งเครื่องเติมอากาศและกังหันนํ้าชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรขุมทรัพย์ทางปัญญาที่พระองค์พระราชทานแก่พสกนิกร ชาวไทยเพื่อแก้ปัญหาในแหล่งนํ้า ก่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขจวบจนถึงปัจจุบันและต่อไปอย่างยั่งยืน MP27-3309-10

[caption id="attachment_223784" align="aligncenter" width="503"] ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ดร.พรธรรม ธรรมวิมล[/caption]

ภาพประกอบโดย: นายระวิภาส บุญลือ
นายวาทกานต์ ดะห์ลัน และ เด็กชายธารา ใจอ่อน
ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309
วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1