“สุนัขทรงเลี้ยง” เคียงพระจิตกาธาน

06 ต.ค. 2560 | 02:46 น.
รูปหล่อปูนพลาสเตอร์ต้นแบบเหรียญสตางค์ขึ้นรูปเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประดับอยู่ ณ ใจกลางห้องปั้น ซึ่งวางแนวแสง ๔๕ องศาทางทิศเหนือ มิติแสงที่ลงตัวที่สุด ซึ่งอาจารย์ศิลป์ได้นำศาสตร์ด้านแสงเข้ามาประยุกต์กับงานประติมากรรมไทย ขนาบข้างด้วยประติมากรรมรูปคุณทองแดงและคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยงใน “รัชกาลที่ ๙” เสร็จสมบูรณ์พร้อมประดิษฐานเคียงข้างพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”

จากฝีมือการปั้นซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัย ของคุณชิน ประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านประติมากรรม หนึ่งเดียวของกรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการ ส่วนประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ สู่การลงสีที่รังสรรค์ผ่านฝีมือของภรรยาคู่ชีวิต คุณสุนทรีย์ ประสงค์, บุตรสาว คุณก้อย ปิยะธิดา วงศ์วัชรา และบุตรชายคนสุดท้อง คุณเก่ง พิชญ์พงศ์ ประสงค์ ในประติมากรรมรูปคุณทองแดงและประติมากรรมรูปคุณโจโฉ โดยคุณวรกร ธำรงธรรมทัต


MP27-3303-3B

นับตั้งแต่การเริ่มปั้นคุณทองแดงในวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๖๐ จนเสร็จ พร้อมหล่อต้นแบบไฟเบอร์กลาสในวันที่ ๔ ส.ค. และคุณโจโฉ ซึ่งเริ่มลงมือปั้นในวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๐ หล่อต้นแบบไฟเบอร์กลาสในวันที่ ๑๕ ส.ค. ๒๕๖๐ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นกว่า ๒๓๗ วัน ที่ทุกกระบวนการตั้งแต่ดินก้อนแรกจนการลงสีบนปลายพู่กันสุดท้าย เกิดขึ้นในบ้านเลขที่ ๑๗/๔ หมู่ ๑ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี เกิดเป็นความรู้สึกผูกพัน ไม่เฉพาะคนในบ้าน แต่ยังรวมถึงคนในชุมชนรอบข้างที่แวะเวียนมาชื่นชมประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงอย่างไม่ขาดสาย

“การลงสีสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง ๒ สุนัข ผมและทีมจิตรกรจะคุยกันก่อน ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน สื่อสารตรงกันถึงอารมณ์ของงานปั้นและงานลงสีที่จะถ่ายทอดออกมา เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน แบ่งความสุขให้กันและกัน ผมได้รับความสุขสูงสุดในชีวิตจากการปั้นแล้ว ความสุขด้านการลงสีก็แบ่งให้ครอบครัว ให้ลูก ๆ ได้ร่วมกันทำงานถวายพระองค์ท่าน งานศิลปะต่างคนต่างคิดไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน”

ประติมากรรมคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยงของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ตั้งแต่เมื่อต้นรัชกาลก่อนปี ๒๕๐๐ ฉายเอกลักษณ์ของสุนัขพันธุ์บอกเซอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์สุนัขทางตะวันตกอย่างเด่นชัด มีลีลาท่าทางที่สง่างาม พร้อมกับความขี้เล่น สร้างรอยแย้มพระโอษฐ์ให้กับ “ในหลวง” ผ่านภาพถ่าย ที่มีอุปกรณ์คู่กาย คือ ไปป์อันจิ๋ว


MP27-3303-1B

สำหรับประติมากรรมคุณทองแดง ไม่เพียงถ่ายทอดเอกลักษณ์ คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง ๔ ขา มีหางม้วนและปลายหางดอกสีขาว รวมถึงมีจมูกแด่นแล้ว ประติมากรรมผู้ปั้นและจิตรกรผู้ลงสียังใส่สัญลักษณ์ ซึ่ง “ในหลวง” ทรงเคยมีพระราชปรารภเกี่ยวกับคุณทองแดง ตอนหนึ่งว่า

“ทองแดงเป็นสุนัขที่ไม่ธรรมดา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องความกตัญญูรู้คุณที่มีต่อแม่มะลิ ซึ่ง ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ มักจะทรงยกย่องทองแดงอยู่เสมอว่า ผิดกับคนอื่น ที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้ว มักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย ทองแดงเป็นสุนัขที่มีสัมมาคารวะและมีกิริยามารยาทเรียบร้อย เจียมเนื้อเจียมตัว รู้จักที่ต่ำที่สูง เวลาเข้าเฝ้าฯ จะนั่งอยู่ต่ำกว่าเสมอ แม้จะทรงดึงตัวขึ้นมากอด แต่ทองแดงก็จะทรุดตัวลงหมอบกับพื้น และทำหูลู่อย่างนอบน้อม คล้ายกับแสดงอาการว่า ไม่อาจเอื้อม”

บริเวณอกด้านซ้าย ตำแหน่งหัวใจ มีรูปดอกมะลิบาน ซึ่งเริ่มลงสีส่วนนี้ในวันที่ดอกมะลิบริเวณหน้าโรงปั้นพากันเบ่งบานโชยกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ สื่อถึงความเป็นแม่ของคุณทองแดงและความกตัญญูรู้คุณต่อแม่มะลิ แม่นมที่ดูแลคุณทองแดงมาแต่ยังเป็นลูกสุนัข แต้มบนจมูกรูปใบโพธิ์ สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา สื่อถึงความเป็นสิริมงคลและลักษณะสำคัญของสุนัขสายพันธุ์ตะวันออกที่นอบร้อม เป็นมิตร ผ่านรูปแบบใบหูที่ลู่ลงและปากที่ยิ้มกว้าง


MP27-3303-2B

ภายใต้ความมีชีวิตชีวาของคุณทองแดง สิ่งที่เป็นตัวแทนสะท้อนความรู้สึกของประติมากรและจิตรกร คือ นัยน์ตาที่ดูแดงระเรื่อ ซึ่งคุณเก่ง พิชญ์พงศ์ ผู้ลงสีนัยน์ตาคุณทองแดง ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังว่า “ผมตีความการลงสีแววตาของคุณทองแดงให้เป็นแววตาของสุนัขที่กำลังจะร้องไห้ งานประติมากรรมที่อาจารย์ถ่ายทอดมา คือ เรื่องราวของความเศร้า การลงสีจึงต้องศึกษาดวงตาของคนที่กำลังร้องไห้จริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ดวงตาของคุณทองแดงจึงไม่ได้เป็นดวงตาในแบบสุนัข แต่เป็นดวงตาของคน พอลงสีได้จุดที่ต้องการ ผมวางพู่กันเลย รู้ว่าพอแล้ว อิ่มแล้ว สำเร็จแล้ว”

“ทองแดงนั่งไปดี ๆ นะลูก โจโฉดูแลน้องด้วยนะ” เสียงตะโกนส่งคุณทองแดงและคุณโจโฉ เมื่อนายทหารทั้ง ๔ ยกเคลื่อนขึ้นบนรถ เพื่อเตรียมพร้อมประดิษฐานยังพระเมรุมาศ เคล้าคลอกับเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ไม่ขาดสาย พร้อมกับสายตาที่นำพาเอาความคิดถึงติดตามประติมากรรมทั้ง ๒ ส่งไปจนลับตา”

โอ้ยามเย็น จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์
ยามไร้ความสว่างห่างทินกร
ยามรักจำจะจรจากกันไป...

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว