แพทย์ไทยเจ๋ง!พัฒนาแอพพลิเคชันThai-NMSQประเมินอาการพาร์กินสัน

19 ก.ย. 2560 | 13:46 น.
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงอาการที่ผิดปกติทางการเคลื่อนไหว เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยพาร์กินสันอาจมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากอาการทางการเคลื่อนไหว (non-motor symptoms) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลได้เช่นกัน โรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั่วโลก หรือประมาณร้อยละ 1 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ความชุกของโรคจะพบสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอายุน้อยลงหรือประมาณ 40 – 50 ปี เพิ่มขึ้น
doc

รศ.นพ. ประวีณ โล่ห์เลขา หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (dopamine) มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อปริมาณของสารโดปามีนลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และทรงตัวลำบาก

ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะมีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น อาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ นอนละเมอ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก หลงลืมง่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวมาก่อนกลุ่มอาการทางการเคลื่อนไหวอีกด้วย
doc2

“กลุ่มอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น อาการท้องผูกเป็นประจำ อาการนอนละเมอคล้ายตอบสนองต่อความฝัน (REM behavior disorder, RBD) อาการซึมเศร้า และความผิดปกติของการดมกลิ่นหรือรับรส สามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางการเคลื่อนไหว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหล่านี้นำมาก่อนล่วงหน้าได้นานถึง 5-10 ปี อาการวิตกกังวล ปวดเกร็ง ปัสสาวะลำบาก อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ สามารถพบได้ในทุกระยะของโรค อาการหลงลืมง่าย ประสาทหลอน กลืนลำบาก สำลัก และทรงตัวลำบากมักเป็นอาการที่ตามมาในระยะหลัง ประวัติของอาการในข้างต้นและการดำเนินโรคมีความสำคัญและมีส่วนช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค”

ผู้ป่วยพาร์กินสันแต่ละรายอาจมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวที่มากน้อยแตกต่างกัน หากผู้ป่วย ผู้ดูแล และแพทย์ตระหนักถึงปัญหาของอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวที่เป็นปัญหาหลักของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างละเอียดและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ชมรมพาร์กินสันไทย และหน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชัน Thai-NMSQ เพื่อเป็นเครื่องมือในการคัดกรองอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
doc3

แอพพลิเคชัน Thai-NMSQ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นแบบสอบถามอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว จำนวน 40 ข้อ ด้วยคำถามพร้อมภาพประกอบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แบ่งเป็น 10 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. ปัญหาการนอนหลับและอาการอ่อนเพลีย 2. ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิตและการอาการหกล้ม 3. ปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม 4. ปัญหาด้านการรับรู้และอาการประสาทหลอน 5. ปัญหาด้านความจำและสมาธิ

6. ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร 7. ปัญหาทางระบบทางเดินปัสสาวะ 8. ปัญหาทางเพศ 9. ปัญหาอื่นๆ และ 10. อาการขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยา แต่ละคำถามนั้นจะมีระดับความถี่ของอาการในช่วงหนึ่งเดือนให้ผู้ป่วยได้เลือก พร้อมสรุปผลและบันทึกเป็นภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำไปเป็นข้อมูลให้แพทย์ทำการวินิจฉัยต่อไป
doc4

“การพัฒนาแอพพลิเคชัน Thai-NMSQ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถจดจำอาการของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเป็นกังวลของผู้ป่วยว่าอาการต่างๆ จะเป็นสัญญาณเสี่ยงถึงโรคอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงร่นระยะเวลาการซักประวัติและการวินิจฉัยของแพทย์อีกด้วย ผู้ป่วยและผู้ดูแลรวมถึงแพทย์สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน Thai-NMSQ ฟรีได้แล้วที่ App Store สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS และที่ Google Play Store สำหรับระบบระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์” รศ.นพ.ประวีณ โล่ห์เลขา กล่าวเพิ่มเติม

e-book