ระทึก! รับมือภาษีใหม่ ลั่นฆ้อง “ชา-กาแฟ-เหล้า-เบียร์-ยาสูบ” ปรับยกชุด

09 ก.ย. 2560 | 07:17 น.
เวทีสัมมนา “ภาษีสรรพสามิตใหม่ ใครได้ ใครเสีย” คึกคัก! “รัฐ-ผู้ประกอบการ” สมประโยชน์โครงสร้างด่านแรก “ชา-กาแฟ” ...ผู้ประกอบการกังวลช่วงรอยต่อ 15-16 ก.ย. ขอเว้นประเมิน 1 ปี สรรพสามิตยัน! ระยะแรกตรวจสอบเชิงแนะนำ

เวทีสัมมนา “ภาษีสรรพสามิตใหม่ ใครได้ ใครเสีย” จัดโดยความร่วมมือของกรมสรรพสามิต, มูลนิธิพระแก้วมรกตจำลอง และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2560 โดยมีวิทยากรจากกรมสรรพสามิต, ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม และมีผู้ประกอบการร่วมรับฟังคับคั่งเกือบ 500 ราย ถือว่าเป็นเวทีสัมมนาสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ “ภาษีสรรพสามิตใหม่” จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. 2560

นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ประธานเปิดงานในครั้งนี้ กล่าวว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 แบ่งการจัดเก็บภาษีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย, กลุ่มกระทบกับสิ่งแวดล้อม และกลุ่มสินค้าบาป โดยนโยบายในอนาคตจะมุ่งเน้นให้ดูแลสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมตามภาวะสถานการณ์ในขณะนั้น ขณะนี้ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ อยู่ระหว่างการตรวจร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็ว ๆ นี้

[caption id="attachment_154774" align="aligncenter" width="503"] สมชาย พูลสวัสดิ์อธิบดีกรมสรรพสามิต สมชาย พูลสวัสดิ์อธิบดีกรมสรรพสามิต[/caption]

 

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอกฎหมายลูกในเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีไปเกือบทุกฉบับแล้ว รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ยังเหลือเรื่องการจัดเก็บสุรา ยาสูบ และไพ่ ที่จะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ก.ย. 2560 เพราะเป็นสินค้าที่อ่อนไหว หากประกาศล่วงหน้านาน อาจจะมีการกักตุนสินค้า ซึ่งในสัปดาห์สุดท้ายได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเตรียมพร้อมและลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมรายงานสถานการณ์การกักตุนสินค้า ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการปฏิบัติอยู่แล้ว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า สาเหตุที่กฎหมายลูกในเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีล่าช้า เนื่องจากโครงสร้างภาษีใหม่มีการจัดเก็บภาษีจากความหวานด้วย ทำให้มีสินค้าบางรายการที่ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตมาก่อน เช่น ชาและกาแฟ ถูกรวมเข้ามาอยู่ในรายการด้วย จึงต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาควบคู่ไปด้วย ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

[caption id="attachment_205919" align="aligncenter" width="503"] P1-3295-a ปฏิรูปภาษี เวทีสัมมนา“ภาษีสรรพสามิตใหม่ ใครได้ ใครเสีย” จัดโดยความ ร่วมมือของกรมสรรพสามิต มูลนิธิพระแก้วมรกตจำลอง และหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก[/caption]

 

“ขณะนี้ กรมสรรพสามิตพร้อมแล้วและยืนยันว่า จะไม่ทำให้ภาระภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างแน่นอน เพราะแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนฐานการเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรมและราคานำเข้าซีไอเอฟ มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ แต่ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีลง เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่สร้างภาระให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค” นายสมชาย กล่าว

ด้าน นายสมเดช ศรีสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภายใต้โครงสร้างภาษีใหม่ ภาคเอกชนจะมีความสะดวกมากขึ้น ได้ปรับลดใบอนุญาตสุราจาก 7 ประเภท เหลือเพียง 3 ประเภท นอกจากนั้นในส่วนของน้ำพืชผัก จะไม่ต้องติดแสตมป์เสียภาษีอีกต่อไป เพื่อลดขั้นตอนยุ่งยาก เพราะน้ำพืชผักจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีอีกต่อไป แต่จะถูกรวมในกลุ่มภาษีความหวานประเภท ชา กาแฟ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. นี้ แบบฟอร์มต่าง ๆ จะทยอยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นและต่อจิ๊กซอว์และจดทะเบียนได้

ขณะที่ นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการภาษีและกฎระเบียบสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตใหม่ครั้งนี้ ไม่เพียงยกเลิกกฎหมาย 7 ฉบับเท่านั้น แต่ที่จริง ยกเลิกไปถึง 46 ฉบับ และยังเป็นกฎหมายที่ภาครัฐให้โอกาสเอกชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย แต่ภาคเอกชนยังมีความกังวลอยู่บ้าง เพราะการประกาศกฎกระทรวงหรือกฎหมายลูกในระยะกระชั้นชิด หรือก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ไม่กี่วัน ทำให้เอกชนมีปัญหาทางปฏิบัติ ทั้งการขออนุญาต อัตราภาษี และวิธีการต่าง ๆ

 

[caption id="attachment_205917" align="aligncenter" width="503"] สื่อมวลชนรุมสัมภาษณ์ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ ในงานสัมมนา “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนรุมสัมภาษณ์ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เกี่ยวกับ
พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ ในงานสัมมนา “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา[/caption]

 

นอกจากนั้น โครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างต้นทุนด้วย ทำให้กังวลว่า คู่แข่งจะรู้ด้วย ดังนั้น กรมสรรพสามิตเองต้องสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการ

นายธนากร คุปตจิตติ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ทเฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่กังวลมาก คือ ผู้นำเข้าสุรา ซึ่งต้องปฏิบัติตามกรมศุลากรด้วย โดยจะมีปัญหาขั้นตอนปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ที่ถือว่าเป็นข่าวดีกับผู้ประกอบการมาก คือ กรมสรรพสามิตจะเป็นการให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ แต่จะไม่ประเมินภาษีเป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวในช่วงรอยต่อระหว่างการบังคับใช้กฎหมายใหม่ รวมถึงต้องรอดูว่า อัตราภาษีที่จัดเก็บจริง จะเป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตรับปากกับผู้ประกอบการหรือไม่

นายสมเดช กล่าวชี้แจงว่า ในช่วงแรกการใช้ภาษีใหม่ กรมสรรพสามิตจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และมุ่งตรวจการเสียภาษี แต่จะยังไม่ประเมินภาษีผู้ประกอบการ ส่วนจะเป็นเวลาเท่าไรนั้น ขึ้นกับนโยบาย แต่คาดว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 180 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10-13 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว