จากเลนส์สู่เรื่องราว...บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 1

03 ก.ย. 2560 | 08:10 น.
บทกลอนอันไพเราะและภาพที่สะท้อนเรื่องราว “งาน” ของคุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน คุณครู ภาษาไทยผู้รักในการถ่ายภาพ จนเกิดเป็นความตั้งมั่นในการใช้ภาพเป็นเครื่องมือบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ให้เป็นความทรงจำที่ชัดเจนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด

MP26-3293-6A การก่อตั้งชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ขึ้นในปี 2549 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ได้นำไปสู่การผลักดันเด็กๆ ในชมรมให้ดำเนินรอยตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ว่า

“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าต่อสังคมให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”

และการเริ่มต้นนั้นได้พัฒนาสู่ก้าวสำคัญของเยาวชนตัวน้อยกับการเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาที่มีค่ายิ่งของปวงชนชาวไทย

MP26-3293-5A “การมองภาพผ่านเลนส์ทำให้มุมมองภาพของเราสามารถจำกัดพื้นที่ลงจากภาพกว้างๆ มุมภาพที่แคบลงนี้ทำให้เราเห็นสังคมไทยในแง่มุมที่ชัดเจนขึ้นว่าเรากำลังถ่ายภาพอะไร และกำลังทำไปเพื่ออะไร เพื่อ ความสุขของคนที่เป็นเจ้าของภาพในเฟรมของเรา หรือทำ ให้ภาพนั้นไปสู่สังคมและเป็นประโยชน์กับผู้อื่นต่อไป”

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตลอด 11 ปี ของการขับเคลื่อนชมรมฯ คุณครูสุรกานต์ ได้พาเด็กๆ นับสิบชีวิต เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญซึ่งล้วนเป็นที่น่าจดจำยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธีต่างๆ หรือแม้กระทั่งการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บภาพมหาอุทกภัยในปี 2554 เพื่อให้ประชาชนสามารถนำภาพไปแจ้งความเสียหายกับเจ้าหน้าที่รัฐได้

[caption id="attachment_202372" align="aligncenter" width="503"] คุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน และน้องๆ เยาวชนชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ คุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน และน้องๆ เยาวชนชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์[/caption]

“ถ้าอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ การพาน้องๆ มาถ่ายภาพ การมองภาพผ่านหลังเลนส์จะทำให้น้องๆ เห็นประวัติศาสตร์มากกว่าการมองผ่านหน้าจอโทรทัศน์ การได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่และจิตอาสาทุกคนที่ตั้งใจทำงานทุกชิ้นที่อยู่ตรงหน้าให้สำเร็จและดีที่สุด อารมณ์ต่างๆ ที่น้องๆ ได้สัมผัส จะทำให้ “ความรักชาติ” ที่มีอยู่ในหัวใจของเราซึมลึกลงไปยิ่งกว่า และเป็นภาพประทับใจในความทรงจำของทุกคนทั้งชีวิต”

MP26-3293-2A การศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่จริง สถานการณ์ จริงพร้อมกับพี่ๆ สื่อมวลชนหลายสิบชีวิต ทำให้เด็กๆ ไม่เพียงต้องเรียนรู้การถ่ายภาพในโหมด Manual ให้ทันท่วงทีเท่านั้น แต่ยังต้องรู้จังหวะการเข้าถึงภาพและเข้าถึงเรื่องราวเพื่อให้การทำหน้าที่ “เด็กหลังเลนส์” เสร็จโดยสมบูรณ์ ภาพที่เกิดขึ้นจากมุมมองของเยาวชนตัวเล็กๆ ที่มาพร้อมกับพวงมาลัยเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศในทุกครั้ง ไม่เพียงฉายภาพ งานสถาปัตยศิลป์ครั้งสำคัญที่สุดในแผ่นดิน แต่ยังเข้าไปถึงมุมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความจงรักภักดีของเจ้าหน้าที่และจิตอาสาทุกคนที่หล่อหลอมดวงใจทำงานใหญ่ครั้งนี้ให้สำเร็จเพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่ “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

MP26-3293-3A ภาพถ่ายที่ได้รับการอัดรูปสีมาอย่างดีจากฝีมือของเด็กในชมรมฯ ค่อยๆ ถูกส่งต่อไปยังเจ้าของภาพซึ่งล้วนแต่เป็นนายช่างและจิตอาสา รอยยิ้มจากผู้รับส่งกลับสู่ผู้ให้ในวินาทีที่เห็นภาพตนเองกำลังตั้งใจทำงานใหญ่ครั้งสุดท้ายถวายพระเจ้าอยู่หัว คือจุดหยุดเวลาที่ทำให้ใครหลายคนที่เห็นช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นได้ยิ้มไปตามๆ กัน

วันนี้ชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ มิได้หยุดบทบาทของการเรียนรู้ผ่านสถานที่จริงและเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ด้วยแรงขับเคลื่อนเล็กๆ ได้ก้าวสู่การเป็นพลังหลอมรวมเยาวชนผู้รักในการถ่ายภาพ ผสานหัวใจที่รักการเรียนรู้ และรักในการให้ผู้อื่นอย่างแท้จริง เกิดเป็น “เครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร” ที่ผนึกเยาวชนที่มีใจรักในการถ่ายภาพร่วมทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ส่งต่อเป็นข้อมูลในหอจดหมายเหตุแห่งชาติต่อไป

MP26-3293-1A “สุขสัปดาห์” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำเรื่องราว “ความสุขที่เกิดจากหัวใจเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่” ของน้องๆ เยาวชนทั้ง 15 คน จากชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร ผ่านคอลัมน์พิเศษ “จากเลนส์สู่เรื่องราว บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน” ต่อเนื่องกันตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไปถึงเดือนตุลาคม 2560 นอกจากนั้นยังสามารถติดตามผลงานและความเคลื่อนไหวของน้องๆ ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ช่างภาพเยาวชนชมรมเด็กหลังเลนส์-พระหฤทัยคอนแวนต์”

MP26-3293-9A เวลาเปลี่ยนเวียนผ่านมานานแล้ว แต่มิแผ่วความรักภักดีถวาย
บันทึกภาพผ่านเลนส์มิเว้นวาย ด้วยมุ่งหมายในปณิธานงานแผ่นดิน
คืออาสาอาศัยใจอาสา สะพายกล้องคล้องคอมาอาสาสิ้น
บันทึกภาพเบื้องหลังทุกชีวิน ที่ทำงานเพื่อภูบดินทร์องค์ภูมิพล
พระเมรุมาศประกาศเกียรติพระเกียรติยศ ให้ปรากฏยิ่งใหญ่ในทุกหน
ประโคมเสียงฆ้องสังข์สกาวสกล ตอกหมุดบนกลางแผ่นพื้นสะอื้นทรวง
ยกเสาเอกเป็นปฐมอุดมฤกษ์ บายศรีเบิกฟ้าสว่างกลางแดนสรวง
เริ่มเพลาถวายงานการทั้งปวง ให้ลุล่วงสำเร็จเสร็จโดยพลัน
เมื่อมองภาพผ่านเลนส์เป็นสุขแท้ เมียงมองแลเนรมิตวิจิตรสรร
ช่างเชื่อมเหล็กเล็กใหญ่ให้สูงชัน พระเมรุมาศวิลาสลั่นถึงชั้นฟ้า
มองผ่านเลนส์เห็นแสงสอดสุรีย์สาด พระเมรุมาศเป็นเงาดำช่างล้ำค่า
เมฆผ่องพราวราวพระพักตร์องค์เทวา- ภูมิพลทอดเนตรมายังข้าบดินทร์
บุษบกเก้ายอดสอดประสาน สัตว์หิมพานต์เทพเทวดาประณีตศิลป์
โกรกฉลุพระโกศจันทน์บรรจงจินต์ ถวายองค์ปรมินทรภูมิพล
จิตรกรรมประติมาสถาปัตย์ ภูมิทัศน์ยืนหยัดอยู่คู่ทุกหน
ณ พระเมรุมาศทองทั้งมณฑล ส่งเสด็จสกาวสกล ณ ทิพย์พิมาน

ประพันธ์โดย คุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน
ที่ปรึกษาชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และ เครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560