เร่งออกทีโออาร์‘เมืองการบิน’ อุตตม จี้! ปลายปีนี้ได้เห็นกลุ่มอากาศยานแห่ลงทุน

14 ส.ค. 2560 | 09:35 น.
บอร์ดบริหารอีอีซี จี้กองทัพเรือเร่งศึกษาความเป็นไปได้ โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก หลังดันศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาเป็นโครงการเร่งด่วน หวังเปิดทีโออาร์ให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐได้ภายในปลายปีนี้ “คณิศ”เผยได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก เร่งหาพื้นที่รองรับ

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเห็นชอบให้โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกซึ่งจะทำให้เกิดการเร่งรัดลงทุนได้โดยเร็วผ่านกระบวนการร่วมทุนรัฐและเอกชน(พีพีพี)

โดยโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากจะสร้างรายได้ให้ประเทศได้มากกว่าปีละ 3,500 ล้านบาท ยังเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และสร้างเสริมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย โดยรูปแบบโครงการจะประกอบด้วยโรงซ่อมเครื่องบินแห่งใหม่ภายใต้แนวคิด Smart Hangar รองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานยุคใหม่โดยเฉพาะAirbusA350และยังประกอบด้วยส่วนสำคัญอื่นๆเช่น โรงซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของลำตัวเครื่องบินสมัยใหม่ ศูนย์อะไหล่ชิ้นส่วน และอุปกรณ์อากาศยาน พร้อมศูนย์ฝึกช่างอากาศยานชั้นสูง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารฯที่ผ่านมา ได้ขอให้ทางกองทัพเรือเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกโดยเร็ว เนื่องจากเป็นโครงการหลักเร่งด่วนที่จะทำให้สามารถออกหนังสือชี้ชวนการลงทุน(ทีโออาร์) ภายใต้การดำเนินการของรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ให้ได้ภายในปลายปีนี้ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.64 แสนล้านบาท กว่า 12โครงการ เนื่องจากขณะนี้มีนักลงทุนหลายบริษัทให้ความสนใจและต้องการลงทุนศูนย์ซ่อมที่สนามบินอู่ตะเภาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอร์บัสฯ ที่ได้เอ็มโอยูร่วมกับบริษัท การบินไทยฯ ในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานไปแล้ว ยังมีบริษัท โบอิ้งฯ ที่สนใจจะร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกับ แอร์บัส ใน 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และ Simulators Training Center เพื่อฝึกหัดนักบินให้เชี่ยวชาญในการบินกับเครื่องบินแบบต่างๆ รวมถึงบริษัทซาบฯที่มีความสนใจจะมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯที่ได้มีการหารือกันรอบหนึ่งแล้ว มีความสนใจที่จะมาลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน เนื่องจากเครื่องบินในภูมิภาคนี้ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จำนวนมากบริษัทมิตซูบิชิฯ และSTAerospaceมีความสนใจที่จะสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยประสงค์จะเปิดการร่วมลงทุนกับผู้สนใจที่จะประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและบริษัท Sumitomo Precision Products ได้หารือร่วมกับ สกรศ. ในเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้อยู่ระหว่าง ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนเพื่อผลิตระบบ Landing Gear คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 -3เดือน

tp10-3287-b โดยในส่วนนี้ ทางที่ประชุมได้มอบหมายให้กองทัพเรือ สำนักงานการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ไปดำเนินการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานในระยะแรก เพิ่มเติมจากโครงการของบริษัทการบินไทยฯเพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนในพื้นที่ได้โดยเร็ว

สำหรับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อเปิดให้มีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ จะอยู่ใน6กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย กลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า กลุ่มธุรกิจกิจอุตสาหกรรมอากาศยานประกอบด้วยเขตการค้าเสรีเพื่อประกอบการค้าและอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศยาน และโลจิสติกส์กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบินและศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560