'ยุ่น' กระอัก! แรงงานขาดแคลน ปัจจัยเสี่ยงกระทบฟื้นตัวเศรษฐกิจ

05 ส.ค. 2560 | 01:40 น.
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานหนักที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลระบุว่าจะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ขณะที่การขาดแคลนแรงงานยังไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตของรายได้มากเท่าที่ควร

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่า อัตราตำแหน่งงานว่างในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็น 1.51 จาก 1.49 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2517 โดยอัตราดังกล่าวหมายความว่า มีตำแหน่งงานว่าง 151 ตำแหน่งต่อจำนวนคนหางานทุกๆ 100 คน

ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายนลดลงเหลือ 2.8% จาก 3.1% ในเดือนพฤษภาคม

แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ถึงแนวโน้มการฟื้นตัวในระดับปานกลางของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอาจจะกลายมาเป็นคอขวดสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเวลาที่ประชากรญี่ปุ่นมีอายุมากขึ้น

“ตลาดแรงงานตึงตัวในระดับสูงอยู่แล้ว และถ้าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัญหาแรงงานขาดแคลนจะยิ่งแก้ไขได้ยาก” นายฮิเดโนบุ โทคุดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบัน วิจัยมิซูโฮะ กล่าว

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุในรายงานเศรษฐกิจและการเงินสำหรับงบประมาณประจำปี 2560 ที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนก่อนว่า การบริโภคภายในประเทศซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 60% ของขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ เนื่องจากการเติบโตของค่าแรงอยู่ในระดับที่ตํ่ามากแม้ว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในภาวะตึงตัว ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนขึ้นไปเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 735,477 เยน นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

รายงานระบุว่า การขาดแคลนแรงงาน “เป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจเปิดโอกาสครั้งสำคัญในการกระตุ้นผลิตภาพและดึงเศรษฐกิจขึ้นมาจากภาวะเงินฝืด”

[caption id="attachment_188229" align="aligncenter" width="503"] ญี่ปุ่นกระอักแรงงานขาดแคลนปัจจัยเสี่ยงกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ญี่ปุ่นกระอักแรงงานขาดแคลนปัจจัยเสี่ยงกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน[/caption]

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 2555 นายชินโซะ อาเบะ พยายามที่จะดึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พ้นจากภาวะเงินฝืดยาวนานด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่รู้จักกันในชื่อ “อาเบะโนมิกส์” ประกอบกับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อย่างไรก็ตาม ผ่านมากว่า 4 ปี การแก้ปัญหาเงินฝืดยังคงเป็นงานที่รัฐและบีโอเจทำไม่สำเร็จ โดยบีโอเจได้เลื่อนเป้าหมายการยกระดับเงินเฟ้อ?ให้ได้ถึง 2% ออกไปอีกเป็นครั้งที่ 6
อัตราว่างงานในระดับตํ่าและตำแหน่งงานว่างที่อยู่ในระดับสูงกลับไม่สามารถช่วยให้การเติบโตของค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งตามที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.3% เป็น 268,802 เยน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า การปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพและค่าแรงจะต้องเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับแรกสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้นโยบายอาเบะโนมิกส์ โดยไอเอ็มเอฟเสนอให้มีการเพิ่มเงินเดือนอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ เช่น เงินเดือนข้าราชการ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อและกระตุ้นให้บริษัทเอกชนที่มีกำไรให้เพิ่มเงินเดือนอย่างน้อย 3% ต่อปี

ขณะเดียวกันเป็นที่คาดหมายว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 2 จากอานิสงส์ของการส่งออกและการบริโภคที่ขยายตัวขึ้น ทั้งนี้ตัว เลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะเปิดเผยในเดือนสิงหาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560