ราชบุรีโฮลดิ้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ก้าวทันประเทศไทย 4.0

24 ก.ค. 2560 | 09:08 น.
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “สุขสูงวัย สร้างไทยแข็งแรง” มุ่งส่งเสริมสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยด้วยการให้ความรู้ด้านการดูแลรักษาสุขภาพ โดยเน้นเรื่องการดูแลและป้องกันโรคทางหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการทำให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยติดเตียงและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ รวมทั้งให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุให้ก้าวทันและเปิดรับการใช้ social media อย่างถูกต้อง รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในยุคประเทศไทย 4.0 ต่อไป

Ratch4 นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่โครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ภาวะประชากรผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้นถึงร้อยละ 20 ภายในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในอีก 20 ปีข้างหน้า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ภาครัฐและครัวเรือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มุ่งการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ จึงได้ริเริ่มโครงการ “สุขสูงวัย สร้างไทยแข็งแรง” ขึ้นในปี 2558 เพื่อร่วมกันดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย ให้ยังคงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ยืดสมรรถนะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง มีความเป็นอยู่ที่พึ่งพาตนเองได้ และมีสังคมแวดล้อมที่น่าอยู่และมีความสุข

Ratch5 สำหรับปี 2560 โครงการ “สุขสูงวัย สร้างไทยแข็งแรง” จะให้ความสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้สูงวัยก้าวทันกับการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยจะเน้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุใน 3 ด้าน คือ สุขภาพ สังคมและความมั่นคงทางการเงิน ทั้งนี้ รูปแบบกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดสัมมนาเรื่อง “สุขสูงวัย หัวใจแข็งแรง” เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งผู้สูงอายุจะได้เรียนรู้วิธีการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี และสัมมนาเรื่อง “เฒ่าทัน โซเชียล” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สูงวัยได้เปิดรับการใช้เทคโนโลยีและรู้เท่าทัน Social media อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ และการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อตรวจสุขภาพและหัวใจ โดยตั้งเป้ากลุ่มผู้สูงอายุเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จะเข้าร่วมกิจกรรมใน 2 วัน รวม 160 คน

“ผู้สูงอายุนับเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและได้สร้างประโยชน์มากมายให้กับประเทศ ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพันธะ เป็นพลังของครอบครัวและสังคม จึงสมควรที่จะได้รับการดูแล ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขไม่เป็นปัญหาต่อครอบครัวและสังคม บริษัทฯ เล็งเห็นความจำเป็นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้สังคมและชุมชนสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้คนสูงวัยในสังคมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและประเทศไทยต่อไปตราบนานเท่านาน” นายกิจจา กล่าว

นางวรรณมงคล เจาะจัง อายุ 66 ปี จังหวัดนนทบุรี เล่าว่า มาร่วมกิจกรรมกับโครงการนี้ทุกปีได้ความรู้ได้ประโยชน์ ครั้งนี้มาเรียนรู้เรื่องโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งคุณหมอให้คำแนะนำดีมาก ทำให้เรารู้ว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อป้องกัน สำหรับคนสูงวัย เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ดูแลตัวเองให้ดี เช่น พักผ่อนเพียงพอ ตรวจสุภาพเป็นประจำ พบแพทย์ตามนัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทุกวันนี้ตื่นตีห้าครึ่งมายืดเส้น ครึ่งชั่วโมง เมื่อก่อนมักมีอาหารมือเท้าชาตอนนี้หายดีแล้ว ดีมาก ถ้ามีเวลาก็ไปโน่นมานี่ ไปกับเพื่อนๆ และเข้าชมรมต่างๆ ได้เจอเพื่อนฝูง ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง

นายสำเนา ถนอมชัย อายุ 80 ปี จังหวัดนนทบุรี เล่าว่า ตอนนี้เป็นโรคถุงลมโป่งและโรคความดันโลหิตสูง ทำให้เราต้องดูแลตัวเองให้ดี ทุกวันนี้ตื่นตีห้าเพื่อออกกำลังกายทุกวัน โดยจะเดินเบาๆ 1 ชั่วโมง อย่าหักโหม ถึงเวลาก็พักผ่อน ทานอาหารตรงเวลา พบแพทย์ทุก 3 เดือน มาร่วมกิจกรรมกับโครงการนี้เป็นครั้งแรกเพราะอยากได้ความรู้ จะได้รู้ว่าโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเป็นอย่างไร กลับไปบ้านก็จะได้บอกคนอื่นว่าโรคนี้เป็นอย่างไรจะได้ป้องกัน

ทั้งนี้ อุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนไทยประมาณ 250 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งคำนวณได้ว่าน่าจะมีคนไทยเป็นโรคหลอดเลือดสมองปีละ 150,000 รายหรือคนไทยเป็นโรคนี้ 1 รายทุกๆ 4 นาทีและเสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที อย่างไรก็ตามโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการออกกำลังสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ถ้าพบปัจจัยเสี่ยงต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ