ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การพัฒนาโอกาสที่ต้องทำให้สุดทาง

25 มิ.ย. 2560 | 06:13 น.
TP7-3273-A กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือ Technology Transfer กำลังเป็นเรื่องที่สังคมไทยพูดถึงกันอย่างมากในเวลานี้ สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ม.44 ขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคายระยะที่ 1 โดยมีการยกเว้นกฎหมายหลายฉบับที่มองว่าเป็นอุปสรรคทำให้หลายหน่วยงานออกมาเรียกร้องและเสนอเงื่อนไขต่อรัฐบาลที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปแต่ที่หลายฝ่ายพูดเป็นเรื่องเดียวกันคือภาครัฐต้องดำเนินการให้ทางฝ่ายจีน มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เสียงที่แผ่วจนเกือบไม่ได้ยินคือภาคอุตสาหกรรมผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยในเวลานี้มีหลายหน่วยงานอาสาเป็นผู้ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว แล้วใครล่ะควรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แล้วจะเอาไปทำอะไร

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการทำวิจัยและดำเนินการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระบบรางแห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลี(Korea Railroad Research Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จนวันนี้เป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงส่งออกและผลจากงานวิจัยที่หน่วยงานนี้ดำเนินการมาตลอดด้วยระยะเวลาเพียง 20 ปี สามารถเคลมเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ถึงประมาณ 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (490,000 ล้านบาท) ด้วยเงินลงทุนเพียง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนผลตอบแทนถึง 11.2 เท่าจากเงินลงทุน ทั้งหมดมาจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือ? คำตอบคือไม่

TP7-3273-1 จริงๆ แล้วกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยี(Technology Development) ของเกาหลีใต้เองเท่านั้น แต่เดิมเกาหลีใต้ก็มีเทคโนโลยีรถไฟอยู่แล้ว แต่ด้วยแผนการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นผู้นำ ด้านอุตสาหกรรมในระดับโลก จึงมีแผนที่จะพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมระบบรางของตัวเองภายใต้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง คล้ายๆกับบ้านเรานี่แหละแต่สิ่งที่คนเกาหลีใต้ปลูกฝังให้กับคนของเขาในเวลานั้นนอกจากเป้าหมายที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก็คือ การปลูกฝังMindsetหรือกระบวนทรรศทางความคิดที่เป็นหลักยึดในการมุ่งมั่นดำเนินการคือ การพึ่งพาตัวเองด้วยเทคโนโลยีที่ปราศจากพันธนาการ“Self-Reliance with Independence Technology” ทำให้ในกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นเพียงการทำ Technology Transfer เท่านั้นยังแทรกการทำ R&D เข้าไปด้วยทำให้ประเทศบางประเทศที่เสนอขายเทคโนโลยีถึงกับต้องเปิดการเจรจากับรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อลดราคาลงถึง 30% แต่ขอให้ตัดกระบวนการ Technology Transferและ R&D ออก แต่ด้วย Mindset ที่แน่วแน่จึงไม่สามารถเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการได้

สุดท้ายจึงได้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากประเทศฝรั่งเศสพร้อมเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีการจับคู่ดำเนินการในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่มีภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2ประเทศดำเนินการร่วมกันเป็นหลักภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนจากรัฐบาล

กระนั้นก็ตามกระบวนการถ่ายทอดก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะสิ่งที่ได้มาก็ยังเป็นเพียงการตอบWhat? แต่ ไม่ตอบ Why? ทำให้กระบวนการดำเนินการพัฒนารถไฟความเร็วสูงต้นแบบที่พัฒนาจากรากฐานของรถไฟความเร็วสูง TGV ของประเทศฝรั่งเศสใช้เวลาถึง 11 ปี ด้วยงบประมาณในการดำเนินการมหาศาล เนื่องจากจะต้องมาดำเนินการวิจัยและพัฒนาตามหลัง ภายหลังจึงเน้นการดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักทำให้รู้และเข้าใจกระบวนการจากต้นนํ้าถึงปลายนํ้า สามารถลดเวลาในการพัฒนาลงมาเหลือเพียง 8 ปีด้วยงบประมาณที่ลดลงครึ่งหนึ่ง

มาถึงตรงนี้พวกเราคงตาลุกและอยากมีโอกาสบ้าง แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จากที่เคยกล่าวไว้แล้วว่ากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป้าหมายสุดท้ายคือผลิตภัณฑ์(Products) อันประกอบด้วย 3ส่วนหลักเชื่อมโยงกัน เริ่มจากต้นนํ้าคือรัฐบาลที่ต้องดำเนินการวางแผนและกำหนดนโยบายกลางนํ้าคือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีศักยภาพรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี และปลายนํ้าคือภาควิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ

TP7-3273-2 ต้นนํ้า: ภาครัฐ มีหน้าที่กำหนดนโยบายที่มีความชัดเจนเริ่มตั้งแต่การวางแผนและพัฒนาโครงการ การจัดทำรายละเอียดสัญญาและกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ สิ่งที่ภาครัฐควรจะทำในกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีคือการกำหนดข้อกำหนดกลางเพื่อให้เกิดปริมาณการจัดซื้อที่จูงใจภาคอุตสาหกรรม การกำหนดปริมาณ Local Contents เพื่อให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการจัดทำระบบการซื้อขายต่างตอบแทนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ทั้งประเทศเกาหลีใต้ จีน และมาเลเซียต่างก็มีนโยบายสนับสนุนด้านนี้ทั้งสิ้น กำหนดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีความชัดเจนว่าจะถ่ายทอดอะไร Core หรือnon-core ลึกแค่ไหน มีกระบวนการอย่างไร และให้ใครรวมถึงกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่จะต้องได้จากทุกๆ กระบวนการดังกล่าวด้วย

กลางนํ้า: ภาคอุตสาหกรรมต้องมีองค์ความรู้ มีกำลังคนที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์ สุดท้ายคือต้องมีงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี ที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือเรายังอ่อนแอเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมระบบรางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตยังมีน้อยมาก และถูกจัดให้อยู่ในประเภทอุตสาหกรรมเริ่มตั้งไข่(Infant Industry) อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมไทยยังขาดแรงจูงใจในการก้าวไปเป็นอุตสาหกรรมระดับ tier 1 และยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมน้อยมาก

ปลายนํ้า: หน่วยงานวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโดยการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ ที่ต้องเป็นผู้ทดสอบและรับรองผลให้กับภาคอุตสาหกรรม ต้องมีศักยภาพในการดำเนินการในระดับสากล มีความพร้อมทั้งด้านคน เครื่องมือและงบประเมาณ สำ หรับประเทศไทยมีบางหน่วยงานที่สามารถดำเนินการได้เฉพาะบางชิ้นส่วนเท่านั้นยังไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทั้งหมด และยังกระจัดกระจายในหลายหน่วยงานไม่มีความเป็นเอกภาพ เราอาจต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมวิจัยพัฒนาและกระจายความรู้สู่ภาคอุตสาหกรรมแบบ KRRI หรือ RTRI
จากต้นนํ้าถึงปลายนํ้าในกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีวันนี้ดูเหมือนเรายังขาดความพร้อมอยู่พอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่พร้อมที่จะเริ่ม แต่สิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันคือการพัฒนาเติมเต็มให้เกิดความพร้อมในทุกๆฝ่าย ไปให้สุดทางเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรมไทยให้ได้ เพื่อไม่ให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเพียงการอบรมถ่ายทอดความรู้แล้วแยกย้ายกันกลับต้นสังกัด

นับจากนี้นอกจากวิสัยทัศน์ที่เราจะก้าวสู่ความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน ที่รัฐบาลวางไว้ให้หลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลางใน 20 ปีแล้ว เราคงต้องถามต่อว่าแล้วคนไทยต้องมีMindset อย่างไรจึงจะไปถึงจุดนั้น ถ้าจะเป็น Thailand 4.0 คงต้องลบ Mindset ที่ว่า “ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว” ออกจากสมองคนไทยทุกคน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560