เดินหน้าเมืองใหม่3พื้นที่ใช้ที่เอกชนแนวรถไฟเร็วสูง‘อุตตม’ตั้งกรมโยธาฯขับเคลื่อน

05 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
กรมโยธาฯ เดินหน้าลุยเมืองใหม่ 3 จ.อีอีซี ยึดที่ดินเอกชนรอบสถานีรถไฟเร็วสูง แปดริ้วชูบางนํ้าเปรี้ยว-แปลงยาว ชลบุรี เล็งหมื่นไร่ จุดลงมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพดุ ระยอง เกาะถนนสุขุมวิท/ทล.36 หลังมท.1 เร่งเต็มสูบ“อุตตม” ตั้ง อธิบดีกรมโยธาฯ ขับเคลื่อน

นอกจากเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก 3จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แล้ว เมืองใหม่ ซึ่งเป็นเขตอยู่อาศัยรองรับแหล่งงาน ต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็วเช่นกัน

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองและในฐานะประธานอนุกรรมการสร้างเมืองใหม่ 3 จังหวัดอีอีซี เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า นายอุตมา สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แต่งตั้งให้ เป็นประธานอนุกรรมฯ สร้างเมืองใหม่ ซึ่งจะเร่งดำเนินการจัดหาพื้นที่ที่ทเหมาะสมทั้ง 3 จังหวัด

ทั้งนี้ พื้นที่ที่เหมาะสม คือ 1.ต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนด 2.ใกล้แหล่งงาน 3.ระบบสาธารณูปโภคเข้าถึง 4. ไม่เป็นที่ลุ่มต่ำ 5.เดินทางสะดวก 6. ใกล้ระบบขนส่งทางรางและทางบกเป็นต้น

อย่างไรก็ดีการพัฒนาจะไม่นำที่ดินเป็นของรัฐเหมือนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองใหม่นครนายกในอดีต เพราะไม่สามารถเดินหน้าได้ ที่สำคัญจะไม่ ใช้วิธีซื้อ เพราะจะเกิดการปั่นราคาที่ดิน แต่จะเป็นลักษณะรวมแปลงที่ดินของเอกชน โดยใช้วิธีจัดรูปที่ดิน เชื่อว่า เมืองใหม่จะเกิดขึ้นได้ แต่เชื่อว่า ราคาที่ดินจะขยับสูงขึ้น ส่วนขนาดแปลงจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่ว่าจะมีประชากรเข้าพื้นที่เมืองใหม่มากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้น ตามมาตรฐานของเมืองใหม่ ต้องมีประชากร 10คนต่อที่ดิน 1ไร่ แต่หากจะ พัฒนา จำกัดพื้นที่ ก็สามารถลดขนาดพื้นเล็กลงได้ แต่ ภายในเมืองต้องมีสาธารรูปโภคครบ

แหล่งข่าวจาก กรมโยธาธิการและผังเมืองเสริมว่า ขณะนี้เร่งศึกษาพื้นที่เพื่อเสนอต่อพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) ซึ่งจะอยู่เกาะแนวรถไฟความเร็วสูง เชื่อมไปยังสนามบินอู่ตะเภา ขณะเดียวกัน จังหวัดชลบุรี ระยอง ก็ต้องมีเมืองใหม่เช่นกันเนื่องจาก เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม

ด้าน แหล่งข่าวจาก สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่า เข้าใจว่า ฉะเชิงเทราน่าจะถูกกำหนดให้เป็นเมืองใหม่หรือเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีทั้งจังหวัดแต่ทั้งนี้ต้องรอผลศึกษาจากกรมโยธาฯ ซึ่งเมืองใหม่ จะอยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เพราะ มีสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยว ที่รัฐบาลกำหนดให้รถไฟความเร็วสูงมาเชื่อม ที่สำคัญยังเป็นทำเลใกล้กรุงเทพ และอยู่ระหว่างก่อสร้างถนน

ขณะที่หอการค้าจังหวัดและ สภาอุตสหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ศึกษาให้พื้นที่เมืองใหม่อยู่ บริเวณอำเภอแปลงยาว ซึ่งใกล้แหล่งงาน ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ตั้งอยู่

สำหรับเขตอุตสาหกรรม ที่อยู่ในฉะเชิงเทราอำเภอเมืองอำเภอบ้านโพ บางปะกง แปลงยาว เชื่อว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยมีสูง

อย่างไรก็ดีนโยบายรัฐบาล กำหนดให้จังหวัดระยองเป็นเมืองนวัตกรรม ชลบุรี เป็นเมืองศูนย์ดิจิตอลปาร์ค และฉะเชิงเทรา เป็นสมาร์ตซิตี้และเมืองอยู่อาศัยชั้นดี

ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยอง ระบุว่า โซนเมืองใหม่ หรือที่อยู่อาศัย จะอยู่ บริเวณ พื้นที่สีชมพู ตามผังเมืองรวมจังหวัดชลบุรี ซึ่งจะอยู่เกาะแนวถนนสุขุมวิท ,ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข (ทล.) 36 เส้นกระทิงลาย –ระยอง ทางหลวงหมายเลข 3191 เส้นปลวกแดง-ระยอง และทางหลวงหมายเลข 3138 เส้นบ้านค่าย-ระยอง

นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่าพื้นที่ เมืองใหม่ ของเมืองชล ยังไม่กำหนดชัดเจน แต่เบื้องต้นจะอยู่ พื้นที่ เขตบ้านฉาง-สัตหีบ และพัทยา หรือ บริเวณจุดลงของมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด เขตอำเภอบางละมุง 10,000 ไร่ ขณะที่ ตำบลอ่าวอุดม ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง กำหนดเป็นศูนย์นวัตกรรม 600-700 ไร่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560