อุตฯการบินอินโดฯขึ้นชั้นผลิตเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ 19 ที่นั่งได้เอง

14 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
อุตสาหกรรมการบินอินโดนีเซียไปไกลกว่าทุกประเทศในอาเซียน ล่าสุดสามารถผลิตเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ขนาด 19 ที่นั่งใช้เทคโนโลยีของตัวเองได้แล้ว เตรียมทดสอบบินและขอมาตรฐานนานาชาติ คาดปีพ.ศ. 2561 เริ่มส่งมอบลูกค้า

นิตยสารนิกเกอิเอเชียรีวิว รายงานว่าบริษัทดีร์คันตารา อินโดนีเซีย (Dirgantara Indonesia) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตเครื่องบินของประเทศอินโดนีเซีย ใกล้ประสบความสำเร็จในการนำเครื่องบินใบพัดขนาด 19 ที่นั่งออกจำหน่าย ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศขยายตัว

นายแอนดี อลิสจาห์บานา (Andi Alisjahbana) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและการพัฒนา บริษัท ดีร์คันตาราฯ กล่าวว่า บริษัทผลิตเครื่องบิน N219 ต้นแบบซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารใบพัดเพื่อการพาณิชย์ขนาด 19 ที่นั่งไว้แล้วและกำลังยื่นเอกสารต่อหน่วยงานทางการในประเทศและนานาชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการทดสอบบินในช่วงกลางปีนี้และตั้งเป้าผลิตและส่งมอบลูกค้าในปีพ.ศ. 2561

นิกเกอิเอเชียรีวิวฯ ระบุว่าอินโดนีเซียจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเนื่องจากประเทศเป็นหมู่เกาะ และเครื่องบิน N219 เหมาะกับธุรกิจการบินในประเทศเนื่องจากเป็นเครี่องบินใบพัดที่ใช้รันเวย์ยาวน้อยกว่า 800 เมตร และ ดีร์คันตาราฯ ผลิตได้ถูกกว่า เครื่องบิน DHC-6 Twin Otter ของแคนาดาซึ่งเป็นคู่แข่งถึง 20%

ล่าสุดดีร์คันตารา มีคำสั่งซื้อ N219 เป็นจำนวน 100 ลำแล้ว โดยผู้ซื้อมีทั้งสายการบินในประเทศคือไลอ้อนแอร์และสายการบินต่างประเทศ โดยบริษัท ตั้งราคาขาย N219 ไว้ที่ 5.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 192.5 ล้านบาท) ต่อลำ มีจุดคุ้มทุนที่ 200 ลำ

นอกจากเครื่องบินขนาด 19 ที่นั่งแล้ว บริษัทมีแผนจะผลิตเครื่องบินใบพัดขนาด 50 ที่นั่งขายให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งตลาดแอฟริกาด้วย

นิกเกอิเอเชียรีวิว อ้างการวิเคราะห์จากบริษัทเจแปนแอร์คราฟท์ ดีเวลลอปเม้นท์คอร์ป ระบุว่าเครื่องบินใบพัดเทอร์โบพร็อพ เป็นเครื่องบินที่บินในระยะทาง 1,000 กีโลเมตรหรือน้อยกว่า ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วไม่ต้องการเนื่องจากมีระบบถนนและรถไฟที่ดี แต่ในแถบเอเชียแปซิฟิกคาดว่าตลาดเครื่องบินประเภทนี้จะเพิ่มขึ้น 55 % ในช่วงปี 2558-2578 เป็น 1,394 ลำมูลค่า 65,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.275 ล้านล้านบาท)

ล่าสุด บริษัทออกแบบเครื่องบินของอินโดนีเซียคือ RegioAviasiIndustriได้ออกแบบเครื่องบินเทอร์โบพร็อพ ขนาด 80-90 ที่นั่งรหัส R80 เพื่อให้ ดีร์คันตาราฯ ผลิตไว้แล้วคาดว่าจะเริ่มการผลิตและส่งมอบลูกค้าในปีพ.ศ. 2565
อย่างไรก็ดี นิกเกอิเอเชียรีวิว ระบุว่า เครื่องบิน N219 ของของดีร์กันตาราฯ แม้จะมีจุดได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตแต่ยังมีอุปสรรคอีก 3 เรื่องที่ต้องฟันฝ่า โดยเรื่องแรกคือการเข้าถึงจุดคุ้มทุนได้ทันเวลา เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่า คำสั่งซื้อน่าจะอยู่ในระดับเพียง 100 ลำจากสายการบินในประเทศเป็นส่วนใหญ่ขณะที่จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 200 ลำ

อุปสรรคประการที่ 2 คือเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ผลิตในประเทศทั้งลำอาจจะมีปัญหาทางด้านการออกแบบ ซึ่งอาจทำให้การทดสอบบินต้องเลื่อนออกไป และอุปสรรคประการที่ 3 คือคู่แข่ง โดยนอกเหนือจาก เครื่องบิน เอทีอาร์ ของฝรั่งเศส และ แอมเบเออร์ ของบราซิลแล้ว บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของอินเดียและจีน ก็กำลังพัฒนาเครื่องบินใบพัดเพื่อขายในตลาดนี้เช่นกัน

นิกเกอิเอเชียรีวิว ระบุว่า บริษัท คอมเมอร์เชียลแอร์คราฟท์คอร์ปออฟ ไชน่าฯหรือ โคแมก กำลังพัฒนาเครื่องบิน ARJ 21 ขนาด 70-80 ที่นั่งเพื่อขายในประเทศกำลังพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ส่วนอินเดีย มีรายงานว่า บริษัท ฮินดูสถานแอโรนอติกส์ ซึ่งผลิตเครื่องบินรบให้กับรัฐบาล มีแผนจะทำเครี่องบินพาณิชย์ ขายรวมทั้งเครื่องบินใบพัดเทอร์โบพร็อพ โดยมีแผนเริ่มผลิตเพื่อการพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2566

[caption id="attachment_140544" align="aligncenter" width="503"] บี.เจ. ฮาบีบี้ (B.J. Habibie) บี.เจ. ฮาบีบี้ (B.J. Habibie)[/caption]

 เส้นทาง'ดีร์คันตาราอินโดนีเซีย'


อุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซีย ได้พัฒนามาอย่างยาวนาน โดยผู้ริเริ่มคือนายบี.เจ. ฮาบีบี้ (B.J. Habibie) ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเรียนจบทางด้านวิศวกรรมการบินและทำงานด้านอากาศยานในเยอรมันก่อนจะได้รับเชิญจากประธานาธิบดีซูฮาร์โตให้เป็นรองประธานาธิบดีและผลักดันอุตสาหกรรมการบินในประเทศโดยก่อตั้งบริษัท ดีร์คันตาราฯ ในปี 2519 มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้สนามบินบันดุง

บริษัทดีร์คันตาราฯ ในช่วงแรกร่วมทุนบริษัทบริษัทแอร์บัสและคาซ่าของสเปนผลิตเฮลีคอปเตอร์ ให้กับแอร์บัสโดยต่อมาบริษัทของอเมริกาและยุโรป ใช้อินโดนีเซีย เป็นฐานในการผลิตเครี่องบินบางรุ่นอาทิแอร์บัสให้ผลิต เครี่องบินขนส่ง NC212 ในปีพ.ศ. 2556 และต่อมาให้ผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินแอร์บัส A380 และ A350XWB ฮันนี่เวลล์ของสหรัฐอเมริกาให้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องบิน

ขณะเดียวกัน ดีร์กันตารา ได้พัฒนาผลิตเครื่องบินของตัวโดย พัฒนามาถึงขั้นสามารถผลิตเครื่องบินเทอร์โบพร็อพขนาด 50-70 ที่นั่งมีชื่อรหัส N250 ในปีพ.ศ. 2538 ได้แต่โครงการต้องพับไปหลังจากที่เกิดวิฤตการเงินเอเชีย (ต้มยำกุ้ง) และล่าสุดหันมาตั้งความหวังไว้กับ N219

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560