นั่งคุย‘ผกามาศ’รองประธานหอเชียงราย ชี้ช่องสินค้าไทยบุกรัฐฉาน

13 เม.ย. 2560 | 12:00 น.
การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา บริเวณพรมแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก นับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น มีมูลค่าทางการค้าระหว่างนับหมื่นล้านบาท สินค้าจากไทยข้ามพรมแดนเข้ารัฐฉาน สู่เมืองตองจี กระจายไปทั่วประเทศเมียนมา

ขณะเดียวกัน รัฐฉานยังสนใจชักชวนไทยให้เข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น รัฐฉานมีความน่าสนใจมากแค่ไหน"นางสาว ผกามาศ เวียร์รา" รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน และ ประธานสาขาเชียงราย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา จะมาบอกกกล่าวในรายละเอียด

  ศักยภาพของรัฐฉาน
ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐกะฉิ่น มณฑลยูนนาน (ประเทศจีน) ทิศตะวันออก ติดต่อเขตสิบสองปันนา (ประเทศจีน) และแขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว (ประเทศลาว)ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ประเทศไทย) รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง (เมียนมา)ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตมัณฑะเลย์และเขตสะกาย (เมียนมา) รัฐฉานจะเป็นทางผ่านของท่อก๊าซจากอ่าวเบงกอล ถนนเส้นทาง R 3 B และรถไฟความเร็วสูงของจีนจากเมืองคุนหมิงยังทางตะวันตก และยังมีทะเสลาบอินเล แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเมียนมา

  ชวนไทยลงทุนในรัฐฉาน
เมื่อเร็วนี้ นายโซ่ ยุน วิน รัฐมนตรีวางแผนและเศรษฐกิจรัฐฉาน และนายไซ เส่ง ทิป โลน รัฐมนตรีการคลังของรัฐฉาน ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-รัฐฉาน พร้อมนำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย รวมทั้งศึกษาดูงานด้านขนส่งสินค้าทางน้ำ ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือการท่องเที่ยว พร้อมชักชวนนักธุรกิจจากไทยเข้าไปลงทุนที่รัฐฉาน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาท่าอากาศยานเฮโฮ เมืองตองจี เมืองหลวงแห่งรัฐฉาน ที่ถูกกำหนดให้เป็นสนามบินนานาชาติ เช่นเดียวกับสนามบินเมืองย่างกุ้ง และสนามบินเมืองเนปิดอร์

นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วคือ เครือซีพี ที่ไปสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เพราะรัฐฉานแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบีทีเอส ที่สนใจสร้างโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากโรงแรมในเมียนมามีค่าห้องพักแพงกว่าไทย 2-3เท่า และยังมีกลุ่มโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่ก่อตั้งโดย เสถียร เศรษฐสิทธิ์ สนใจเข้าไปลงทุนเช่นกัน โดยรัฐบาลรัฐฉานได้รับสิทธิ์ในการอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเกินกว่านั้น ต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงการลงทุนของเมียนมาต่อไป

  สินค้าไทยบุกรัฐฉาน
เนื่องจากรัฐฉานติดต่อกับไทยผ่านเมืองท่าขี้เหล็ก จึงชื่นชอบสินค้าอุปโภค-บริโภคจากประเทศไทยมากกว่าสินค้าจากประเทศจีน โดยมีความมั่นว่า สินค้าไทยผลิตได้มาตรฐาน มีการกำหนดวันผลิตและวันหยุดอายุอย่างชัดเจน มีการผลิตภายใต้มาตรฐานมอก. ขณะที่สินค้าจากจีน ระบุเฉพาะวันผลิตเท่านั้น ไม่มีระบุวันหยุดอายุ คนฉานที่มีฐานะจึงนิยมสินค้าไทยมาก บางครั้งก็ข้ามแดนมาช้อปปิ้งที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า เชียงราย จับจ่ายเงินกันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ ยังมาใช้บริการต่างๆไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผม ร้านเสริมสวย คลีนิกบำรุงผิวพรรณ ร้านอาหาร

  สิ่งที่อยากให้ทางการไทยสนับสนุน
นอกจากการติดตามขนส่งสินค้าผ่านด่ายแม่สาย-ท่าขี้เหล็กแล้ว รัฐฉานอยากให้ทางการไทยยกระดับด่านผ่อนปรนทางการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นด่านถาวรเหมือนด่านแม่สาย เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะสามารถเชื่อมต่อกับรัฐคะยาไปถึงกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของเมียนมาได้ในระยะทางที่สั้นลง และเชื่อมต่อมาถึงรัฐฉานได้

นอกจากนี้ ต้องการให้ทางการไทยประสานให้นักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศสามารถขอวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (VISA ON ARRIVAL) เมื่อเดินทางผ่านแดนด้วยรถยนต์ จากเดิมที่อนุญาตให้เฉพาะผู้เดินทางด้วยเครื่องบินเท่านั้น ซึ่งจังหวัดที่มีด่านพรมแดนติดกับเมียนมาคือ เชียงราย ตากและระนองพยายามผลักดันมานานแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560