“คณิต  แสงสุพรรณ”ปัดข่าวลือ ยืนยันอาลีบาบาไม่ทิ้งไทย เตรียมหารือร่วมกัน 31 มี.ค.นี้

27 มี.ค. 2560 | 12:44 น.
ดร.คณิต  แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยืนยันความร่วมมือกับบริษัท Lazada/อาลีบาบา ว่า มีการดำเนินโครงการมาตลอด และได้รับการยืนยันว่า โครงการในประเทศไทยจะเป็น “การพัฒนาศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค” โดยที่จะดำเนินการใช้ไทยเป็นจุดหลักทางผ่านเข้าสู่ CLMV เนื่องจากไทยมีขนาดที่ใหญ่ และ CLMV มีการขยายตัวสูง ซึ่งในอนาคตจึงจะขยายงานทางตรงใน CLMV ในแต่ละประเทศเมื่อมีความพร้อม อย่างไรก็ตาม ในปลายสัปดาห์นี้ผู้บริหารของบริษัท Lazada/อาลีบาบา จะมาสรุปโครงการลงทุน

“ ในวันศุกร์นี้(31 มี.ค.60) ผู้บริหารของบริษัท Lazada/อาลีบาบา จะเข้ามาสรุปถึงโครงการลงทุน ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย EEC และคณะรัฐมนตรี  ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีการย้ายไปลงทุนที่มาเลเซียนั้น ยืนยันไม่ใช่การย้ายการลงทุน แต่เป็นเรื่องปกติของบริษัทใหญ่ ๆ ที่จะขยายโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นตลาดใหญ่และการขยายตัวสูง

ส่วนของการชักชวนผู้ลงทุนใน EEC เป็นการทำงานในภาพรวม ไม่ใช่เป็นทำงานของคณะใดคณะหนึ่ง โดยมีเป้าหมายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม S –Curve  2 ประการ คือ ในระยะยาว คือการใช้เทคโนโลยีชั้นนำ มาเป็นพื้นฐานการยกระดับการแข่งขันของประเทศ และระยะสั้น คือ การให้บริษัทชั้นนำ และผู้ลงทุนรายสำคัญจากทั่วโลกมาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีของไทย เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในเร็วๆนี้ ก็จะมีกลุ่มบริษัท ฮิราตะ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เข้ามาร่วมหารือด้วย” ดร.คณิต กล่าว

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา  EEC  กล่าวอีกว่า การดำเนินการของ EEC ที่ผ่านมา        ได้แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1. การจัดทำนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายอุตสาหกรรม 2.การทำโครงการลงทุนกับนักลงทุนรายสำคัญเป็นรายๆ เช่น การซ่อมสร้างอากาศยาน ที่ได้ทำ MOU ระหว่างการบินไทย กับบริษัท Air Bus เป็นจุดเริ่มต้น ,การร่วมมือทางการบินและธุรกิจการบินระหว่างมหานครการบินเจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน) กับสนามบินอู่ตะเภา โดยคาดว่าร่างความร่วมมือจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือน , การร่วมมือกับ Lazada/ อาลีบาบา และ การเป็นเมดิคัลฮัพ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อเสนอพิเศษกับกลุ่มผู้ประกอบการด้านยาสมัยใหม่ของญี่ปุ่น 3.การจัดพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ โดยเฉพาะศูนย์นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EECi) ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิตัลระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EECd)  โดยทั้งสองศูนย์จะเป็นแหล่งการร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทำต้นแบบ พัฒนาคน และจัดทำผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากการลงทุนอุตสาหกรรมที่ลงทุนแล้วในรอบแรก .