ดัน5แสนดิจิตอลสตาร์ตอัพ ยกระดับเกษตร ติดปีกอุตฯเอสเคิร์ฟ-ดีป้าปักเป้า20ปี

21 มีนาคม 2560
ผอ.ดีป้า กางแผนสร้างผู้ประกอบการดิจิตอล 5 แสนรายขับเคลื่อนเกษตร-อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ เอสเอ็มอี ใช้เทคโนโลยีรับเศรษฐกิจดิจิตอล พร้อมชงแผนนายกฯ เห็นชอบภายใน 180 วัน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) หน่วยงานใหม่ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ถือว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ดิจิตอลภายใต้กรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นหรือ ตั้งไข่หน่วยงานดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องวางรากฐาน แนวนโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนโครงสร้างองค์กรให้มีความชัดเจน เพื่อให้ซ้ำรอย “ซิป้า” เดิม ที่ตั้งขึ้นมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่มีภายในมีปัญหาการทำงานมาตลอด

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) เปิดเผยว่าแนวทางการดำเนินการของดีป้า คือดำเนินการตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และ 41 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติงานและยุทธศาสตร์ใหม่ และเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด ดีอี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายใน 180 วัน ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร และบุคลากร ซึ่งหากเห็นชอบก็จะเริ่มดำเนินงานได้ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2560

โดยมุ่งเน้นสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอล และการนำดิจิตอลไปใช้ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ดีป้าจัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติ การสนับสนุนด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือแบบบูรณาการกับพันธมิตร

ทั้งนี้แผนการดำเนินการภายใต้ระยะเวลา 20 ปี (2560-2579) นั้นจะมุ่งการสร้างระบบนิเวศน์ หรือ อีโคซิสเต็มส์ เศรษฐกิจดิจิตอลขึ้นมา โดยการจัดทำแผนต้องมองอย่างเป็นระบบ ทั้งการสร้างผู้ประกอบการดิจิตอล หรือ ดิจิตอล สตาร์ตอัพ ไปช่วยขับเคลื่อนด้านเกษตรกร และอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมกลุ่มเอสเคิร์ฟ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากรัฐไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมาย 5 แสนราย ทั้งในประเทศและการดึงจากต่างประเทศ

การสร้างชุมชนดิจิตอล ในเชิงการตลาดและบุคลากร โดยให้ความสำคัญกับพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยการใช้ดิจิตอลเข้าไปช่วยชุมชน ทั้งด้านการเกษตร การศึกษา บริการสุขภาพประชาชน โดยใช้ศูนย์ไอซีทีชุมชน 24,700 ชุมชุน 77 เมือง และโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน นอกจากนี้ การจะขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านกฎหมาย มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน ตลอดจนการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อผลักดันให้เกิด ดิจิตอล พาร์ก ดิจิตอล สมาร์ทซิตี และดิจิตอล คอมมิวนิตี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560