มังกรทำอย่างไรจึงสามารถกอดแชมป์อู่ต่อเรือโลกไว้ได้ (จบ)

28 ม.ค. 2567 | 03:30 น.

มังกรทำอย่างไรจึงสามารถกอดแชมป์อู่ต่อเรือโลกไว้ได้ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3961

ตอนก่อนเราคุยกันถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเชิงอุปทาน วันนี้จะคุยกันต่อในมิติเชิงอุปสงค์ ...ปัจจัยสำคัญได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ “นอกชายฝั่งทะเล” ซึ่งได้ขับเคลื่อนอุปสงค์เรือขนาดใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2023 ที่อู่ต่อเรือของจีนได้รับประโยชน์จาก “ไข่มุก 3 เม็ดบนยอดมงกุฏ” อันได้แก่ เรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว เรือขนส่งเครื่องบินรบ และ เรือสำราญขนาดใหญ่

 

เราเห็นความต้องการใช้เรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว และ ฐานขุดเจาะพลังงานกลางทะเลได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้อู่ต่อเรือ LNG ของจีนพัฒนาอย่างกว้างขวาง 

ในอดีต Hudong-Zhonghua Shipbuilding (Group) Co ในเซี่ยงไฮ้ถือเป็นผู้ต่อเรือ LNG ขนาดใหญ่เพียงรายเดียวของจีน แต่ต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญ 

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอู่เรือ LNG ที่แข็งแกร่งหลายแห่งได้กระจายตัวในจีน อาทิ Jiangnan Shipyard (Group) Co, Dalian Shipbuilding Industry Co, Jiangsu Yangzijiang Shipbuilding Group และ China Merchants Industry Holdings Co 

ทำให้สามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกในแง่ของคําสั่งต่อเรือ รองจากเกาหลีใต้ในการต่อเรือ LNG 

ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างในภูมิภาคนี้ ก็ทำให้เกิดอุปสงค์การต่อเรือรบมากขึ้น ออเดอร์บางส่วนยังไปไกลว่าเรือยกพลขึ้นบก เรือตรวจการณ์ เรือฝึก และเรือรบอื่นที่เราเคยรู้จัก 

ปัจจุบัน อู่ต่อเรือของจีนในยุคหลัง สามารถตอบสนองต่อความต้องการเรือรบที่มีขนาดใหญ่ และมีความอัจฉริยะ อาทิ เรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือไร้คนขับ รวมทั้งเรือดำน้ำ ได้เป็นอย่างดี 

เรือสำราญขนาดใหญ่ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่กำลังขยายตัวในเวทีโลก แต่ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า ด้วยจำนวนวัสดุด้านวิศวกรรมศาสตร์ ความยุ่งยากด้านเทคนิค และการประสานงานห่วงโซ่อุปทานที่สลับซับซ้อน ทำให้การต่อเรือสำราญขนาดใหญ่ถูกผูกขาดโดยอู่ต่อเรือของยุโรป แต่จีนก็ฟันฝ่าจนสำเร็จ

ในปี 2023 จีนได้ก่อสร้าง และส่งมอบเรือสำราญ “Adora Magic City” (อะโดราเมกกะซิตี้) ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3,000 คน 

เรือนี้ถือเป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ลำแรก ที่จีนก่อสร้างด้วยตนเองทั้งหมด โดยมีชิ้นส่วนมากกว่า 25 ล้านชิ้น หรือประมาณ 5 เท่าของเครื่องบินพาณิชย์ C919 และราว 13 เท่าของรถไฟความเร็วสูงฟู่ซิง (Fuxing) ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 8 ปี ในการทำวิจัยและพัฒนา และอีก 5 ปีในการต่อเรือ แต่ในท้ายที่สุด ออเดอร์ก็ถูกส่งมอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อู่ต่อเรือของจีนยังใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจ ที่เกิดขึ้นจากฐานการผลิต และการพัฒนาท่าเรือ และเครือข่ายโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง ปากแม่น้ำไข่มุก และพื้นที่อ่าวโป๋วไห่ 

โดยในช่วงหลายปีหลัง อู่ต่อเรือในด้านซีกตะวันออกของจีน สามารถต่อเรือคอนเทนเนอร์ที่สามารถขนกว่า 24,000 ตู้ได้เรียบร้อยแล้ว หนึ่งในตัวอย่างก็ได้แก่ Hudong Zhonghua Shipbuilding Co ในเซี่ยงไฮ้ ได้ปล่อยเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปเมื่อปีก่อน 

เรือนี้มีความยาวเกือบ 400 เมตร ยาวกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 60 เมตร และมีความกว้าง 61.5 เมตร ทำให้ดาดฟ้าเรือมีพื้นที่เท่ากับ 4 สนามฟุตบอลเลยทีเดียว

ตัวเรือมีส่วนสูง 33.2 เมตร ทำให้สามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 25 ชั้น ซึ่งพอๆ กับอาคารที่มีความสูง 22 ชั้น แถมยังมีอัตลักษณ์พิเศษ ในแง่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพสูง และ ปลอดภัย 

ก่อนหน้านี้ อู่เรือในเมืองจิงเจียง (Jingjiang) ด้านซีกตะวันตกของนครหนานจิง มณฑลเจียงซู ได้ส่งมอบเรือจำนวน 24 ลํา ให้กับเจ้าของเรือต่างชาติ 

นอกจากนี้ จีนยังมีความพร้อมในการต่อเรือบรรทุกรถยนต์ โดยเมื่อปีก่อน China Merchants Jinling Shipyard (Nanjing) Co ก็ได้ส่งมอบเรือขนส่งรถยนต์ขนาด 7,000 คันให้กับลูกค้าต่างประเทศ

                           มังกรทำอย่างไรจึงสามารถกอดแชมป์อู่ต่อเรือโลกไว้ได้ (จบ)

ขณะเดียวกัน อู่เรือดังกล่าวยังกําลังต่อเรือบรรทุกรถยนต์ขนาด 9,400 คัน และอยู่ระหว่างการพัฒนาเรือที่สามารถบรรทุกยานพาหนะได้มากกว่า 10,000 คัน ซึ่งคาดว่าจะปล่อยลงน้ำได้ในอนาคตอันใกล้

เท่านั้นไม่พอ อุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน ยังได้รับประโยชน์จากการเติบใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมของเป้าหมายของการพัฒนา “พลังงานสีเขียว” และ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) 

เหล่านี้ก่อให้เกิดอุปสงค์ของตลาดต่อเรือและอุปกรณ์ทางทะเลมากมาย อาทิ เรือติดตั้งกังหันลม และตลาดต่างประเทศใหม่ และภาคส่วนเกิดใหม่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อปีก่อน New Dayang Shipbuilding Co ในเมืองหยางโจว มณฑลเจียงซู ได้รับคำสั่งซื้อกว่า 60 รายการ จากลูกค้าจีน และ ต่างชาติ สำหรับการติดตั้งระบบการจัดการประสิทธิภาพพลังงานอัจฉริยะทางทะเลบนเรือ ทำให้เรือเหล่านั้นเป็นเสมือน “โรงไฟฟ้าลอยน้ำ” พลังงานสีเขียวไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีออเดอร์ต่อเรือ 59 ลำจากต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรือเทกอง และเรือบรรทุกสารเคมี ทำให้มีงานยาวไปจนถึงปี 2026 

ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของกิจการต่อเรือของจีน ในเวทีโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้าง จนนำไปสู่ระดับความขัดแย้งและความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็ได้ส่งผลให้รัฐบาลของชาติตะวันตกต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาการผลิตของจีนที่มากเกินไป

ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี ได้แสดงความกังวลใจต่อส่วนแบ่งการตลาดของจีน ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ขณะที่ สหราชอาณาจักร ก็ประกาศแผนที่จะใช้เงิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อุดหนุนอุตสาหกรรมการต่อเรือของตนเอง เพื่อรักษาความมั่นคงทางการทหารในระยะยาว

การแข่งขันในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือในตลาดโลก จึงดูเหมือนจะกลับมา “ร้อนระอุ” อีกครั้ง และภายใต้ความท้าทายจากค่าจ้างแรงงาน และปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า จีนจะสามารถนำเอานวัตกรรมมาช่วยรักษาตำแหน่งแชมป์การต่อเรือโลกได้อีกนานเพียงใด