มังกรทำอย่างไรจึงสามารถกอดแชมป์อู่ต่อเรือโลกไว้ได้ (1)

25 ม.ค. 2567 | 04:37 น.

มังกรทำอย่างไรจึงสามารถกอดแชมป์อู่ต่อเรือโลกไว้ได้ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3960

เมื่อหลายวันก่อน ผมไปเตะบอลกับทีมอาวุโสโรงเรียน “อำนวยศิลป์” และมีโอกาสพบท่าน “ผู้การ” กองทัพเรือที่เคยไปประจำเพื่ออยู่ตรวจรับเรือที่จีน เลยแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตสาหกรรมต่อเรือของจีนกันอยู่นาน 

ครั้นผมเดินทางไปจีนเมื่อกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ก็ไปเหลือบเห็นบทความ “China Retains Top Position in Shipbuilding” พาดหัวตัวไม้อยู่ในหนังสือพิมพ์ Shanghai Daily 

และก่อนเดินทางกลับ ก็ยังได้รับทราบว่า มีกิจการรายใหญ่ของเซี่ยงไฮ้ ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ กำลังสนใจอยากจะขยายการลงทุนมาที่ไทย เลยขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนมาแชร์กัน ...

ย้อนกลับไปในอดีต การต่อเรือถือเป็นอุตสาหกรรม “อัสดง” (Sunset Industry) ที่มีลักษณะ “แรงงานเข้มข้น” (Labor-Intensive) ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายจากฐานการผลิต ที่มีค่าจ้างแรงงานสูงไปสู่ฐานการผลิตที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเอาไว้

 

เราจึงเห็นการกระจายตัวของอุตสาหกรรมจากยุโรป สู่ ญี่ปุ่น และ สู่สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่จีนในช่วงกว่า 20 ปีหลังนี้ 

โดยอู่ต่อเรือของจีนขยายกําลังการผลิตครั้งใหญ่ ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 โดยในขณะนั้นยังมีส่วนแบ่งการตลาดน้อยกว่า 10% ของตลาดโลก

หลังจากนั้น อู่ต่อเรือของจีนก็มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับประเภทเรือที่มีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถคว้าตำแหน่ง “แชมป์ต่อเรือ” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2009  

จนกระทั่งในปี 2022 อู่ต่อเรือของจีนมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 47% ของตลาดโลก และนับเป็นครั้งแรก ที่อู่ต่อเรือของจีน มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าของ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ รวมกัน 

ในปี 2023 จีนยังคงเดินหน้าทำสถิติ เป็นฐานการต่อเรือที่ใหญ่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 โดยผลผลิตการต่อเรือของจีน มีปริมาณพุ่งขึ้นทะลุ 42.3 ล้านเดดเวทตัน (DWTs) ขยายตัว 11.8% ของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน “กว่าครึ่งหนึ่ง” ของการผลิตโดยรวมของโลก

ขณะเดียวกัน ในส่วนของคำสั่งต่อเรือใหม่ ก็ขยายตัวถึง 56.4% ของปีก่อน ทำให้มีออเดอร์ใหม่รวมสูงถึง 71.2 ล้านเดดเวทตัน คิดเป็นราว 2 ใน 3 ของการต่อเรือใหม่โดยรวม
ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา จีนมีคำสั่งต่อเรืออยู่ในมือรวมเกือบ 140 ล้านเดดเวทตัน เพิ่มขึ้นกว่า 32% ของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 55% ของยอดคำสั่งต่อเรือโดยรวมของโลก

ด้วยผลผลิตปีที่ผ่านมา คำสั่งต่อเรือที่มีอยู่ในปี 2023 และออเดอร์ใหม่ที่เข้ามาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนจึงถือเป็นประเทศ “ผู้นำ” ที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมต่อเรือโลกในปัจจุบัน 

โดยในบรรดา 10 อันดับแรกของอุตสาหกรรมต่อเรือโลก มีกิจการต่อเรือของจีนติดอยู่ 5 ราย ในเชิงผลผลิตการต่อเรือ 7 ราย ในเชิงคำสั่งซื้อใหม่ และ 6 รายที่มีคำสั่งต่อเรือในมือ

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายบริษัท กิจการต่อเรือที่ใหญ่สุดในโลก 3 อันดับแรกก็ได้แก่ China State Shipbuilding Corp (CSSC) ของจีน ซึ่งก้าวกระโดดจากอันดับ 4 เป็นอันดับ 1 ภายหลังการควบรวมกับ China Shipbuilding Industry Corp. (CSIC) เมื่อปี 2019 

ตามมาด้วย Hyundai Heavy Industries ของเกาหลีใต้ และ Mitsubishi Heavy Industries แห่งญี่ปุ่น 

อันที่จริงแล้ว ในเชิงอุปทาน จีน และ เกาหลีใต้ มีความแข็งแกร่งทางด้านเทคนิคการต่อเรือในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยจีนมีเทคโนโลยีการผลิตที่พร้อมพรั่ง สําหรับการต่อเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ด้วยวัสดุสะอาด ขณะที่เกาหลีใต้มีข้อได้เปรียบในการต่อเรือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 

ขณะเดียวกัน ปัจจัยความท้าทายหลักที่บริษัทเกาหลีใต้เผชิญอยู่ก็ได้แก่ การประท้วงนัดหยุดงาน ขณะที่อู่ต่อเรือของจีนมีความได้เปรียบด้านการผลิตในหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่วงโซ่อุปทานที่มีเสถียรภาพและความยืดหยุ่น นวัตกรรม แรงงาน และ ความตรงเวลาในการส่งมอบ ซึ่งกลายเป็น “จุดแข็ง” ของอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนในปัจจุบัน 

ประการสำคัญ ในช่วงหลายปีหลัง อู่ต่อเรือของจีนสามารถปรับเปลี่ยนขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน “ราคา” ไปสู่ด้าน “คุณภาพ” ได้อย่างรวดเร็ว โดยได้นำเอานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ และ พลังงานสีเขียวมา “ชดเชย” ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น 

จีนยังพยายามประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ในการต่อเรืออัจฉริยะให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยหวังว่า เรืออัจฉริยะเหล่านี้ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในด้านการควบคุมอัตโนมัติ การทํางานระยะไกล และความสามารถในการปรับตัวเรียนรู้ต่อสภาพแวดล้อม จะเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการต่อเรือโลก

โดยที่อุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน ได้ยกระดับการพึ่งพาตนเองภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีหลัก ชิ้นส่วนประกอบ และ วัสดุใหม่ ก็ช่วยลดระยะเวลาในการต่อเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน อันส่งผลให้การส่งมอบเรือมีความตรงต่อเวลา 

อุตสาหกรรมการต่อเรือ นับว่ามีความสลับซับซ้อนด้านห่วงโซอุปทานที่กว้างขวางยิ่ง โดยครอบคลุมกว่า 50 อุตสาหกรรม อาทิ เหล็กและโลหะอื่น เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และ เฟอร์นิเจอร์ แต่รัฐบาลจีนก็สนับสนุนส่งเสริมการสร้าง “คลัสเตอร์” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายรวมถึงกิจการต่างชาติในจีนด้วย

                      มังกรทำอย่างไรจึงสามารถกอดแชมป์อู่ต่อเรือโลกไว้ได้ (1)

เมื่อไม่นานมานี้ Wartsila Corp ผู้ผลิตเครื่องยนต์เรือของฟินแลนด์ ได้ประกาศวางแผนจะผลิตเครื่องยนต์เรือระบบไฮบริด และเตรียมจะขยายสายการผลิตใหม่ในจีน ในอนาคตอันใกล้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย 

นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการส่งเสริมการจัดหาชิ้นส่วนอุปกรณ์และวัสดุในท้องถิ่น ยังย้อนกลับมากระตุ้นให้ห่วงโซ่อุปทานของจีน มีความแข็งแกร่งและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ผู้บริหารของ Dalian Shipbuilding Industry Co ในมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งเป็นกิจการในเครือของ CSSC เปิดเผยว่า เรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่บริษัทฯ เคยใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีในอดีต สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 180 วัน หรือลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง

ด้วยขีดความสามารถในการต่อเรือที่ดี และรอบด้านดังกล่าว ยังช่วยให้จีนขยับไปจับตลาดในระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน การเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตดังกล่าวที่มีแนวโน้มดีขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า จีนจะสามารถรักษาความเป็นผู้นําด้านการผลิต และตลาดต่อเรือโลกได้ต่อไปในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 2 ปีก่อน Hudong-Zhonghua Shipbuilding Co ภายใต้ China State Shipbuilding Corp (CSSC) และ China Shipbuilding Trading Co ได้ส่งมอบเรือจำนวน 16 ลํารวม 1.34 ล้านเดดเวทตัน

ในจำนวนนี้ ราว 90% เป็นผลิตภัณฑ์ระดับกลางและระดับสูง เช่น เรือ LNG และ เรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ เรือคอนเทนเนอร์ “EVER ACME” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 24,000 ตู้ และถูกส่งมอบก่อนกําหนดถึง 4 เดือน

คราวหน้าผมจะพาไปเจาะปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน