รู้จักโครงการผันน้ำยักษ์แดนมังกร (จบ)

25 ต.ค. 2566 | 07:19 น.

รู้จักโครงการผันน้ำยักษ์แดนมังกร (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3934

แต่ใช่ว่าการแปลงความคิดดีๆ ในโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะโครงการผันน้ำขนาดยักษ์นี้ ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และความท้าทายที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก เราไปคุยกันต่อเลยครับ ...

มาถึงวันนี้ ถือว่าโครงการในระยะแรกได้แล้วเสร็จ และเปิดใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเส้นตะวันออกและตอนกลาง คงเหลือแต่เส้นทางตะวันตกที่อยู่ระหว่างการวางแผน

 

ในด้านหนึ่ง คงไม่มีใครปฏิเสธว่า น้ำที่ผันจากพื้นที่ตอนใต้ขึ้นตอนเหนือของจีน ทำให้พื้นที่รับน้ำได้รับประโยชน์มากมายหลายด้านอย่างไม่ต้องสงสัย ยกตัวอย่างเช่น ราว 75% ของปริมาณน้ำที่คนปักกิ่งดื่มใช้ มาจากแหล่งน้ำที่อ่างเก็บน้ำตันเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ยทางตอนใต้ 

ในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำตันเจียโข่ว จึงถือได้ว่าเป็นเส้นชีวิตของเมืองหลวงของจีนก็ว่าได้ เพราะระหว่างวันที่ 23 ต.ค. 2022 ถึง 17 มี.ค. 2023 ปักกิ่งไม่มีฝนหรือหิมะตกเลย ซึ่งนับเป็นภัยแล้งที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

แต่ทว่าคนในปักกิ่งจำนวนราว 20 ล้านคน ก็ยังคงมีน้ำกินน้ำใช้เป็นปกติดี เมืองไม่มีการหยุดชะงักของอุปทานน้ำแต่อย่างใด 

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ ความสำเร็จในการก่อสร้างเส้นทางน้ำที่เชื่อมแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของจีน ไปยังแม่น้ำฮ่วยเหอ ระยะทาง 723 กิโลเมตร ซึ่งสามารถผันน้ำไปหล่อเลี้ยง 15 เมืองในมณฑลอันฮุยทางซีกตะวันออก และมณฑลเหอหนานตอนกลางของจีน คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากกว่า 50 ล้านคน

นอกจากการจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ให้กับผู้อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมแล้ว คลองส่งน้ำ ก็เป็นโครงข่ายการขนส่งทางน้ำที่ดี ขณะที่น้ำที่ถูกผันในโครงการนี้ ยังจะถูกใช้สําหรับการชลประทานเพื่อการเกษตร และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของทั้งแม่น้ำฮ่วยเหอ และทะเลสาบเฉาหู

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ในแต่ละปี โครงการจะช่วยผันน้ำมากกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตรให้กับทะเลสาบดังกล่าว ช่วยลดปัญหาความแห้งแล้ง และฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลสาบ และยังสามารถถ่ายโอนน้ำไปยังพื้นที่แหล่งต้นน้ำของแม่น้ำฮ่วยเหอได้อีกด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การก่อสร้างเส้นทางน้ำที่ยาวเหยียดดังกล่าว ก็เป็นภาระทางเงินกับรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น และส่งผลกระทบเชิงลบกับประชาชน สิ่งแวดล้อม และ ด้านอื่นๆ ในวงกว้าง รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ความหลากหลายทางชีวภาพ และ สิ่งแวดล้อมอื่น

ในทางปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ จึงต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบเส้นทางน้ำ และงัดเอาเทคนิคมากมายออกมาพิชิตปัญหาดังกล่าวในระหว่างการก่อสร้าง 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นรัฐบาลกลางจัดตั้ง บริษัท South-to-North Water Transfer Project เป็นเจ้าของโครงการ 

ขณะเดียวกัน ก็มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรน้ำ กระทรวงการก่อสร้าง สํานักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ China International Engineering Consultant Corporation พร้อมด้วยรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินโครงการ
ในด้านวิศวกรรมศาสตร์

จีนลงทุนก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางน้ำในหลากหลายรูปแบบ อาทิ สะพานน้ำ “คลองลอยฟ้า” และ อุโมงค์น้ำ เสมือน “คลองในดิน” รวมทั้งเขื่อนปรับระดับน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมากที่กระจายอยู่ในจุดต่างๆ ของเส้นทางผันน้ำ 

ลองคิดถึงการทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ความสามารถในการก่อสร้าง และความเพียรพยายามในการขุดอุโมงค์ ที่มีความยาวเกือบ 100 กิโลเมตรใต้ภูเขาฉินหลิง บริเวณตอนใต้ของมณฑลส่านซี ท่ามกลางอุณหภูมิและความชื้นที่สูงมาก เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำหานเจียง สายน้ำสาขาใหญ่สุดของแม่น้ำแยงซีเกียง ไปยังแม่น้ำแวยเหอ สายน้ำสาขาของแม่น้ำเหลือง 

โครงการส่วนนี้กำลังเดินหน้าอยู่ในระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งจะผันน้ำเพื่อการบริโภค และ อุตสาหกรรม ในเส้นทางนี้เข้าสู่นครซีอาน และเมืองข้างเคียงในพื้นที่ตอนกลางของมณฑลส่านซี ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลดังกล่าว ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน โดยอาศัยเทคโนโลยีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพและล้ำสมัย แหล่งน้ำต้นทางบางจุดได้ถูกยกระดับความสูงขึ้นไปถึงกว่า 150 เมตรเพื่อให้มวลน้ำไหลตามแรงดึงดูดของโลกสู่พื้นที่ราบทางตอนเหนือ ซึ่งช่วยให้ประหยัดพลังงานไปได้มาก

                                   รู้จักโครงการผันน้ำยักษ์แดนมังกร (จบ)

นอกจากนี้ โครงการยังต้องเบี่ยงเส้นทางน้ำเลี่ยงพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก และดำเนินงาน 260 โครงการย่อยเพื่อการลดการปนเปื้อนมลพิษ และให้มั่นใจว่า คุณภาพน้ำเมื่อถึงปลายทางผ่านมาตรฐานน้ำดื่มขั้นต่ำ

และลดการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คน นก พื้นที่ทุ่งหญ้า หรือ แม้กระทั่งการก่อสร้างช่องทางเดินน้ำหลายเส้นทางย่อย เพื่ออํานวยความสะดวกในการอพยพของปลาหลายสายพันธุ์

ลองจินตนาการดูเฉพาะเขตย่อยหนึ่งในเมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน ก็ต้องโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชนในพื้นที่จำนวนถึง 367,000 คน เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่สถานีสูบน้ำและเส้นทางน้ำในโครงการนี้

ขณะที่คนในหมู่บ้านโจวจวง มณฑลเจียงซู บางส่วนก็ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการเพาะปลูกข้าวสาลี และ ธัญพืช ไปปลูกกีวีที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า

มาถึงวันนี้แล้ว ภารกิจในโครงการผันน้ำนี้ยังไม่แล้วจบ จีนยังคงต้องบริหารจัดการ และจัดสรรแหล่งน้ำเดิมและใหม่ให้เกิดความสมดุล ขยายเครือข่ายเส้นทางน้ำที่มีอยู่ให้กระจายตัวในระยะถัดไป 

ผู้บริหารโครงการยังต้องให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษา “คลองส่งน้ำ” ที่สร้างขึ้นให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืนยาว เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด และทุ่มเทหาวิธีการและนวัตกรรม ที่เหมาะสมในการออกแบบและก่อสร้างเส้นทางน้ำด้านซีกตะวันตกของจีนที่เต็มไปด้วยความท้าทายในอนาคต

ประสบการณ์จากการดำเนินโครงการนี้ยังอาจเป็น “ต้นแบบ” ให้หลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำได้เรียนลัด โดยจีนอาจขายเทคโนโลยีและโนวฮาวให้ต่างชาติ เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น

เห็นความยิ่งใหญ่ของโครงการที่ดำเนินไปพร้อมกับความท้าทายหลายด้านแล้ว บอกได้คำเดียวว่า “ไม่ใช่จีนคงทำไม่ได้จริงๆ” มีโอกาสขอเชิญชวนผู้อ่านตามไปส่องโครงการนี้ด้วยตาตนเองกันครับ...